พุทธวิธีแห่งบุญโลกไซเบอร์

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2016
โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ เกตน์สิรี วงศ์วาร inspiring.org มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  เสกสรร โรจนเมธากร
 
การเปลี่ยนแปลงคือสัจธรรมของโลกไม่พ้นเรื่องของบุญและการทำบุญ เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน บุญในโลกไซเบอร์กลายเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมไม่น้อย วันมาฆบูชาวันนี้ ปุจฉาวิสัชชนาถึงการทำบุญของคนรุ่นใหม่ ที่เน้นความหลากหลายและการตอบโจทย์ผู้บริจาค สะดวกรวดเร็ว อีกครบวัฏจักรของการตรวจสอบ โปร่งใส เรียลไทม์...พฤติการณ์แห่งทาน ที่เชื่อว่า(น่า)จะยั่งยืนไป
การบริจาคผ่านหน้าเว็บไซต์ที่สะดวกรวดเร็วและมีความหลากหลาย ได้กลายเป็นปรากฏการณ์ของการทำบุญในรูปแบบใหม่ เปรียบเทียบกับต่างประเทศที่การระดมทุนวิธีนี้ได้รับความนิยม หลายเว็บไซต์เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก เช่น www.peta.org หน่วยงานระดับนานาชาติผู้ทำหน้าที่ดูแลพิทักษ์สัตว์และต่อต้านการกระทำรุนแรงต่อสัตว์ทั่วโลก www.globalgiving.org องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ระดมทุน เพื่อโครงการที่ต้องการจากทั่วโลก และ www.crowdfunding.com เป็นต้น
สำหรับไทยมีเว็บไซต์เพื่อการระดมทุนที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย ใกล้ตัวและสร้างพลังแห่งการให้ได้อย่างน่าทึ่ง เช่น โครงการเทใจดอทคอม www.taejai.com โครงการปันกัน www.pankansociety.com และโครงการโซเชียลกีฟเวอร์ www.socialgiver.com เว็บไซต์ดีๆ ที่ก่อตั้งขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ระดมทุนเพื่อสังคม เทรนด์ใหม่แห่งการคลิกและการบริจาคที่ปลายนิ้ว
 
สิรินาท ต่อวิริยะเลิศชัย ที่ปรึกษาโครงการเทใจดอทคอม เว็บไซต์แหล่งรวมโครงการเพื่อสังคม เล่าว่า โครงการดีๆ มากมายในสังคมถูกมองผ่านเลยไป เนื่องจากไม่มีคนเห็น ไม่มีคนรู้จัก สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะโครงการมีขนาดเล็กมีกำลังน้อย เทใจดอทคอมจึงสร้างพื้นที่แห่งการให้ ที่มีระบบเครือข่ายโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการกระจายข้อมูล เชื่อมโยงระหว่างผู้ให้กับผู้ให้เข้าด้วยกัน หมายถึงเชื่อมโยงระหว่างผู้มีแนวคิดไอเดียช่วยสังคมในประการต่างๆ กับผู้ต้องการสนับสนุนเงินทุน สื่อกลางต่อยอดสู่การให้และรับความช่วยเหลือ
"คนในสังคมของเรามีไอเดียในการทำความดีมากมาย รวมทั้งคนที่อยากสนับสนุนก็มีมากมายเช่นกัน เทใจคือเวทีที่ทำให้ทุกคนมาเจอกัน ให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูล" สิรินาท เล่า
ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่เดินทางไปทำบุญที่วัด แต่ก็มีอีกมากที่ไม่ได้ทำอย่างนั้นเพราะไม่มีเวลา หรือเพราะไม่มีโอกาส นอกจากนี้คือความสนใจและความต้องการของคนที่แตกต่างกัน คนบางคนอาจสนใจสนับสนุนเรื่องการศึกษา ขณะที่อีกคนอยากสนับสนุนเรื่องสิ่งแวดล้อม ปัญหาแบบนี้กลายเป็นเรื่องง่าย เพราะเว็บไซต์ให้ทางเลือกที่หลากหลาย
"หน้าเว็บไซต์ของเทใจ แสดงรายละเอียดของ 100 โครงการที่ขอระดมทุนใน 6 หมวดหมู่ ประกอบด้วย 1.การศึกษา 2.สิ่งแวดล้อม 3.ศิลปวัฒนธรรม 4.สุขภาพ 5.เทคโนโลยี และ 6.อื่นๆ"
 
สำคัญที่สุดคือการให้ที่สมบูรณ์แบบ หลังจาก "ให้" ไปแล้ว สามารถติดตามได้ถึงผลของการให้ว่าเป็นไปตามจุดประสงค์หรือไม่ เป็นวัฏจักรของการให้ที่ครบวงจรเพราะรวมถึงการตรวจสอบ ผู้บริจาคเช็คได้ถึงความก้าวหน้าของโครงงานที่ทำ โดยระบบออกแบบให้มีการรายงานผลกลับมายังผู้บริจาคเป็นระยะๆ รวมทั้งการแสดงชื่อเบอร์โทรศัพท์เจ้าของโครงการ ซึ่งผู้บริจาคสามารถโทรไปสอบถามเป็นการช่วยกันตรวจสอบอีกทางหนึ่ง
3 ปีที่ก่อตั้ง เราระดมทุนเงินสำหรับ 100 กว่าโครงการ คิดเป็นเงิน 8-9 ล้านบาท เงินไม่เยอะแต่ตอบโจทย์ที่โครงการเล็กๆ ได้ถูกกระจายออกไป มีคนเห็นประโยชน์ และช่วยกันทำให้สำเร็จขึ้นได้  ดร.กมลาศ ภูวชนาธิพงศ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพุทธจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวว่า โลกปัจจุบันเป็นยุคเทคโนโลยีการสื่อสารไร้พรมแดน มีการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ นอกจากจะเป็นช่องทางการเผยแพร่หลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นช่องทางการทำบุญของคนรุ่นใหม่ที่สะดวกรวดเร็ว ทำบุญผ่านเว็บไซต์ต่างๆ ที่มีการจัดระบบหมวดหมู่ไว้เบ็ดเสร็จ เช่น ทำบุญคนชรา ผู้ยากไร้ สัตว์ เด็กอนาถา การศึกษา รักษาสงฆ์อาพาธ เป็นต้น 
 
การทำบุญในรูปแบบออนไลน์ ทำให้คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงด้วยวิธีง่ายๆ แค่คลิกโอนเงินผ่านระบบบัญชีธนาคาร ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปทำบุญที่วัด บางคนตั้งข้อสงสัยถึงการทำบุญที่เปลี่ยนแปลงไป ในเรื่องนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในหลายพระสูตร ยกตัวอย่างพุทธพจน์ตอนหนึ่งว่า บุญนั้นเป็นชื่อของความสุข นั่นหมายความว่าการทำบุญเป็นหนทางนำไปสู่ความสุข 
 
ในบุญกิริยาวัตถุ 3 ทานถูกยกไว้เป็นหลักในการทำบุญข้อแรก คือ
1.ทาน คือ การทำบุญด้วยการให้ เป็นการแบ่งปันสิ่งของแก่คนอื่น การเผื่อแผ่ให้ผู้อื่นด้วยความเต็มใจ การให้ทานยังรวมถึงการเปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้มีส่วนร่วมในบุญด้วยการทำความดีหรือแสดงความยินดีก็ได้เช่นกัน 
2.ศีล คือ การประพฤติสุจริต ไม่เบียดเบียนผู้อื่น มีความสัมพันธภาพที่ดี เกื้อกูลต่อผู้อื่น การทำบุญด้วยการรักษาศีล การมีความประพฤติอ่อนน้อม การช่วยเหลือ ขวนขวายในการบำเพ็ญประโยชน์อีกด้วย
3.ภาวนา คือ การฝึกอบรมจิตใจตนเอง พัฒนาจิตให้เกิดปัญญา การทำบุญด้วยการฟังธรรมและนำความรู้แก่ผู้อื่น
จะเห็นว่าการให้ทานเป็นการฝึกฝนขัดเกลาพฤติกรรมของบุคคลเบื้องต้น ดร.กมลาส กล่าวว่า ทานเป็นเครื่องชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ในระดับหนึ่ง ลดความเป็นทาสของวัตถุ ลดการยึดติดถือมั่นให้เบาบาง เป็นการเตรียมจิตใจให้พร้อมฝึกฝนคุณความดีและการทำบุญที่สูงขึ้นไป ทำทานด้วยวิธีไหนก็ได้บุญเช่นเดียวกัน สำคัญว่าได้ขัดเกลาพฤติกรรมของตน หรือไม่
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต กล่าวว่า การบริจาคเงินหรือการให้ทานนั้นเป็นบุญอย่างหนึ่งในพุทธศาสนา แม้จะอาศัยโซเชียลมีเดียหรือผ่านเครือข่ายออนไลน์ก็ยังถือว่าเป็นการทำบุญ ส่วนการไปวัดและได้ฟังธรรม เป็นการทำบุญอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า ธัมมสวนมัย เป็นบุญคนละประเภทกับการให้ทานซึ่งเรียกว่าทานมัย
 
ดร.กมลาส ต่อคำถามที่ว่า ในสมัยวัตถุนิยมทุกวันนี้ คนทำบุญเพื่อตอบสนองต่อความโลภในจิตใจ จะมีแนวทางหรือวิธีคิดอย่างไร ที่บุญจะไม่สนองตอบวัตถุนิยมได้ ควรเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า การทำบุญนั้นเป็นการฝึกฝนตนให้ลดละโลภ โกรธ หลง มีศีล สมาธิ และปัญญา เช่น การให้ทานมีเป้าหมายเพื่อลดความตระหนี่ หากทำบุญเพราะหวังร่ำรวยมีโชคลาภ เท่ากับเป็นการเพิ่มกิเลสตัณหา จะได้บุญน้อย ขณะเดียวกันก็ควรตระหนักว่าบุญนั้นทำได้หลายวิธี ไม่ต้องใช้เงินก็ได้ เช่น การเป็นจิตอาสา ช่วยเหลือผู้ทุกข์ยาก ก็ได้บุญเช่นกัน
พระสารีบุตร เคยกล่าวว่าบัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่ให้ทานเพราะเห็นแก่อุปธิสุข (โลกียสุข) ย่อมไม่ให้ทานเพื่อภพใหม่แต่บัณฑิตเหล่านั้นย่อมให้ทานเพื่อกำจัดกิเลส เพื่อไม่ก่อภพต่อไป การทำบุญที่ถูกต้องในพุทธศาสนามุ่งที่การลดละกิเลสตัณหา ซึ่งมิใช่อุดมคติที่เป็นไปไม่ได้ แต่เป็นสิ่งที่พึงกระทำ คนสมัยก่อนเมื่อทำบุญก็ไม่ได้หวังร่ำรวย แต่มุ่งที่พระนิพพานเลย ดังมีคำอธิษฐาน (หรือความตั้งใจมั่น) ว่า นิพพาน ปัจจโย โหตุ แปลว่า ขอให้เป็นปัจจัยไปสู่พระนิพพาน
ยุคนี้บุญสำเร็จได้ที่ปลายนิ้ว คลิกแล้วอย่าลืมอธิษฐานให้ถูกด้วย!
ทำบุญวันมาฆบูชา
ดร.กมลาส เล่าว่า การทำบุญที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะทำบุญด้วยวิธีการใด ขึ้นอยู่ที่ใจเป็นสำคัญ มีความเข้าใจจุดหมายสำคัญของการทำบุญ คือ การวางใจให้ลดละ ทำบุญแล้วจิตผ่องใส จึงจะถือว่าขัดเกลาผู้ให้อย่างแท้จริง ในทางพระพุทธศาสนามีหลักปฏิบัติในการทำบุญที่จะส่งผลมากให้อานิสงส์มาก ดังนี้
1.วัตถุสัมปทา ความพร้อมแห่งวัตถุ หมายถึง ผู้รับเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมสูง หากผู้รับมีคุณธรรมสูงมาก ผู้ให้ทานก็ย่อมได้รับผลมาก
2.ปัจจัยสัมปทา สิ่งที่ให้เป็นสิ่งของที่บริสุทธิ์ แสวงหามาด้วยความสุจริต
3.เจตนาสัมปทา ความพร้อมแห่งเจตนา คือ ก่อนให้ทานมีความยินดี เกิดจากความศรัทธา เห็นคุณค่าการให้ ขณะให้ทานมีจิตเลื่อมใส ไม่เสียดายหรือเศร้าหมอง และหลังให้ทาน มีจิตเบิกบาน
4.คุณาติเรกสัมปทา ความพร้อมแห่งคุณพิเศษของปฏิคาหก (ผู้รับมีคุณพิเศษ) เช่น ทักขิไณยบุคคลเป็นพระอรหันต์ ออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ๆ