เรื่องราวดีๆ ในปี 2563 ที่เกิดขึ้นในช่วงที่เราต้องเผชิญกับโควิด-19

เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2021


หากมองย้อนไปถึงช่วงต้นปี 2020 คงจะไม่มีใครคาดคิดว่าปีนี้จะดุเดือดและดุดันขนาดนี้ ที่จริงแล้วเราเริ่มต้นปีนี้กันด้วยไฟป่าภาคเหนือ เหตุกราดยิงที่โคราช และ PM 2.5 ขาประจำ แต่ที่ร้อนแรงและยาวนานจนยังมองไม่เห็นปลายทาง คงหนีไม่พ้นโควิด-19

ความเดือดร้อนจากโรคระบาดครั้งนี้มีให้เห็นทั่วทุกหย่อมหญ้า บุคลากรทางการแพทย์กลายเป็นอาชีพที่เสี่ยงภัยที่สุด การเดินเข้าโรงพยาบาลให้ความรู้สึกไม่ต่างจากการก้าวขาเข้าสู่สนามรบ โรงแรม ร้านอาหาร ร้านนวดหลายแห่ง ปิดแล้ว ปิดเลย ย่านที่เคยครึกครื้นที่สุดในทั่วทุกจังหวัด ที่เคยเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว ที่เคยเต็มไปด้วยการจราจรติดขัดจนทำให้น่าหงุดหงิดใจ ถูกแทนที่ด้วยความมืด ถูกแทนที่ด้วยความเงียบ … จนน่าใจหาย

แต่ในช่วงเวลาที่มืดมิดและเงียบสงัดที่สุดครั้งนี้ กลับทำให้เราได้เห็นแสงสว่างแห่งความหวัง และเสียงกระซิบของคนใจดีจากทั่วทุกภูมิภาคของผืนแผ่นดินไทยชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะเงินกว่า 87 ล้านบาท จากผู้ให้ใจดี 37,376 คน ถูกส่งต่อถึงชาวไทยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ผ่านพื้นที่ส่วนกลางเล็กๆ อย่างเทใจ 

เทใจจึงอยากแบ่งปันเรื่องราวของคนใจดีเพื่อเป็นเกียรติ และเป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่ทุ่มเท ทุ่มหัวใจเพื่อกันและกันในวิกฤตครั้งนี้

เรื่องราวดีๆ ของคนใจดี

จะเป็นใครไม่สำคัญ ร่วมมือกันผ่านเทใจ

เป็นเรื่องน่าประทับใจที่ได้เห็นคนไทยมากมายลุกขึ้นมาคิดการใหญ่ ก่อตั้งโครงการส่งต่อความช่วยเหลือให้แก่นักรบแถวหน้าอย่างบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ และหนึ่งในหลายๆโครงการที่เกิดขึ้นบนเทใจ คือ โครงการ “ช่วยทันที ฮีโร่ไทยต้านโควิด” ที่ระดมทุนทะลุเป้า 1 ล้านบาท ภายในเวลาไม่ถึง 1 เดือน เพื่อจัดซื้อชุด PPE ส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลกว่า 20 แห่ง ความพิเศษของโครงการนี้ที่เทใจสุดแสนจะภูมิใจ คือการที่ได้เห็นคนจากหลากหลายสาขาอาชีพทั้ง อาจารย์แพทย์, โรงพยาบาล, บริษัทผู้ผลิตชุด PPE และ Influencer อย่างคุณอิก บรรพต ธนาเพิ่มสุข พิธีกรรายการ ถามอีก กับอิก มาร่วมมือกันสร้างผลกระทบทางสังคมอันยิ่งใหญ่ ส่งต่อความช่วยเหลือกว้างไกลทั่วประเทศ

ภาพจากโครงการ “ช่วยทันที ฮีโร่ไทยต้านโควิด”

ส่งต่อ อย่างสร้างสรรค์

นอกเหนือจากบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด-19 แล้ว กลุ่มคนที่ดูจะเดือดร้อนไม่แพ้กัน คือประชากรในชุมชนแออัดที่ต้องตกงาน ไม่มีเงินซื้อข้าวกิน ส่งผลให้ร้านอาหารในชุมชนพลอยขาดรายได้ตามไปด้วย คุณแอ๋ม ศิริพร พรมวงศ์ จึงริเริ่มโครงการ “คลองเตยดีจังปันกันอิ่ม” ที่ระดมทุนไปได้เกือบ 2 ล้านบาท โดยโครงการนี้ เปลี่ยนการซื้อวัตถุดิบจากบริษัทใหญ่มาทำกับข้าวแจก เป็นการนำเงินบริจาคมาอุดหนุนร้านอาหารเล็กๆในชุมชนคลองเตยผ่านระบบคูปอง และคูปองเหล่านี้จะถูกนำไปแจกให้แก่คนในชุมชน เพื่อใช้แทนเงินซื้ออาหารเมื่อต้องการ ซึ่งคุณแอ๋มได้ไตร่ตรองมาอย่างดีแล้วว่า โมเดลนี้ทำให้เงินที่ประชาชนเติมเข้าระบบผ่านการบริจาคได้หมุนเวียนอยู่ในชุมชน และเข้าถึงทุกคนที่ได้รับความเดือดร้อน เรียกได้ว่าโครงการนี้เป็นตัวอย่างของการช่วยเหลืออย่างสร้างสรรค์ และคำนึงถึงระบบนิเวศน์ของชุมชนอย่างแท้จริง

ภาพจากโครงการ “คลองเตยดีจังปันกันอิ่ม”

ใส่ใจไกลเกินเพื่อนมนุษย์

เนื่องจากโควิด-19 เป็นโรคระบาดในมนุษย์ หลายคนอาจจะคาดไม่ถึงว่ามีสัตว์มากมายที่ได้รับความเดือดร้อนเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ช้างแก่และพิการในความดูแลของมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม โดยวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ ส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำและผู้บริจาคหลักของมูลนิธิขาดรายได้ จึงมีความจำเป็นต้องหยุดบริจาคเงินและทำให้ช้างมากมายไม่ได้รับอาหารเพียงพอ เป็นเหตุให้คุณแสงเดือน ชัยเลิศ และคุณทิพย์สุดา มะสิทธิ์ มาร่วมกันก่อตั้งโครงการ “อาหารให้ช้างแก่ ช้างพิการ ที่ประสบภัยโควิด-19” ที่ระดมทุนไปแล้วกว่า 1.4 ล้านบาท ซึ่งโครงการนี้แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ หากอาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินเดียวกันแล้ว เราจะไม่ทอดทิ้งกัน

ภาพจากโครงการ “อาหารให้ช้างแก่ ช้างพิการ ที่ประสบภัยโควิด-19”

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการมากมายที่ได้เกิดขึ้นบนเทใจในช่วงโควิดที่ผ่านมา ซึ่งหากมองย้อนกลับไปถึงทุกโครงการที่เราได้ร่วมมือกันมาตลอดปีนี้แล้ว ต้องบอกว่ารู้สึก “อุ่นใจ” เพราะเทใจได้เห็นมากับตาว่ามีคนไทยอีกมากมายที่พร้อมจะให้ พร้อมจะช่วย และพร้อมจะแบ่งปันอย่างสร้างสรรค์


ขอขอบคุณเจ้าของโครงการและผู้บริจาคทุกท่านที่มาร่วมริเริ่มอะไรดีๆ เพื่อกันและกัน ขอบคุณที่เชื่อมั่นและไว้ใจให้เทใจได้ร่วมเป็นส่วนสำคัญการขับช่วยเหลือสังคมในปีนี้ค่ะ