Dropout เด็กชุมชนคลองเตย เลือก หรือจำเป็นต้องออกจากระบบ และชีวิตได้พบกับอะไรบ้าง

เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2022

ปีการศึกษา 2564 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่า มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาด้วยสาเหตุต่างๆ ทั่วประเทศมากถึง 5,654 คน และคาดการณ์ว่า สิ้นปีการศึกษา 2564 จะมีเด็กหลุดจากระบบ 65,000 คน โดยสาเหตุอาจเป็นได้จาก ความจำเป็นที่ทำให้ไม่สามารถเข้าเรียนได้ เช่น ครอบครัวยากจน กำพร้า อพยพย้ายถิ่นตามผู้ปกครอง ตั้งครรภ์ในวัยเรียน สาเหตุจากการถูกเพื่อนกลั่นแกล้ง การไม่ถนัดทางด้านวิชาการ การถูกพักการเรียนให้ออกจากสถานศึกษา ไปจนถึงสาเหตุด้านนโยบาย ทั้งจากระบบมาตรฐานการเรียนการสอน ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา การยุบโรงเรียนขนาดเล็กทำให้เด็กต้องไปเรียนไกลบ้านและเสียค่าเดินทางมากขึ้น ฯลฯ


จะเห็นได้ว่าสาเหตุในการออกจากระบบการศึกษานั้นหลากหลายขึ้นอยู่กับบริบทของสภาพสังคมและครอบครัวของเด็กแต่ละคน สำหรับพื้นที่ชุมชนคลองเตย คุณแอ๋ม-ศิริพร พรมวงศ์ หัวหน้าโครงการคลองเตยดีจัง ได้สะท้อนถึงสถานการณ์และปัญหาการศึกษาของเยาวชนในชุมชนให้เป็นที่เข้าใจว่า เด็กหลายคนเลือกออกจากระบบการศึกษาเอง ไม่ใช่เพราะปัญหาความยากจนเป็นสาเหตุหลัก โดยภาพรวมของแนวโน้มการตัดสินใจที่จะเลือกออกจากระบบเอง มีสองประเด็นคือ

  • แรงจูงใจในการเรียนในระบบมีน้อย เพราะปัจจุบันสามารถหาความรู้จากที่อื่นนอกจากที่โรงเรียนได้ อีกทั้งคุณภาพการศึกษา คุณภาพครู วิธีการเรียนการสอน ของระบบการศึกษาในปัจจุบันไม่ได้เน้นการมีส่วนร่วมของนักเรียน ทำให้ไม่สร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ แม้เด็กจะอยากเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ แต่โรงเรียนไม่สามารถเชื่อมความต้องการการเรียนรู้ของเด็กกับการศึกษาในระบบได้
  • ไม่มีแรงจูงในรายได้จากการสำเร็จการศึกษาในระบบ แม้จบปริญญาตรีก็มีรายได้ไม่ต่างจากแรงงานขั้นต่ำหรือแรงงานรายวันมากนัก และมีคนจำนวนมากที่จบปริญญาตรีแต่ไม่มีงานทำ
“มีเด็กออกจากระบบอยู่เรื่อยๆ แต่โควิดเป็นตัวเร่ง”


คุณแอ๋มกล่าวถึงปัจจัยที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิด ทั้งในเรื่องการขาดรายได้ฉับพลัน และการเรียนออนไลน์ ซึ่งเด็กมีปัญหาทั้งในเรื่องอุปกรณ์ อินเทอร์เน็ต ผลการเรียนที่แย่ลงจากการเรียนออนไลน์ไม่รู้เรื่องทำให้เกิดความเครียด สิ้นหวัง โมโห โกรธ รวมถึงการต้องอยู่กับครอบครัวตลอดเวลาไม่มีพื้นที่สำหรับตนเอง

จากประสบการณ์ที่คุณแอ๋มได้ทำงานในพื้นที่ พบว่าเยาวชนในคลองเตยเมื่อออกจากระบบการศึกษาแล้ว สามารถหางานทำได้ แต่จะเป็นงานที่ไม่จำเป็นต้องมีทักษะหรือความชำนาญเฉพาะทาง เป็นงานใช้แรงหรือฝึกทักษะสำหรับทำงานระยะสั้นๆ และมักจะเป็นงานชั่วคราวที่อาจไม่ได้จ้างทุกวัน ทำให้มีรายได้ไม่แน่นอน

แทนที่จะแก้ปัญหาด้วยการพยายามผลักให้เด็กกลับเข้าสู่การศึกษาในระบบ โครงการคลองเตยดีจังให้ความสำคัญกับแนวทางการดำเนินการเพื่อที่จะช่วยสนับสนุนและรองรับประคับประคองการใช้ชีวิตของกลุ่มเด็กที่ออกจากระบบการศึกษามากกว่า โดยมุ่งเน้นที่การเพิ่มทักษะและโอกาส 

  • เพิ่มทักษะในด้านต่างๆ เพื่อให้มีโอกาสและทางเลือกมากขึ้น ไม่ใช่มีทางเลือกเป็นได้แค่แรงงานเท่านั้น
    • ทักษะการอยู่ร่วมในสังคม การทำงานร่วมกับผู้อื่น ความอดทน การควบคุมอารมณ์ การตรงต่อเวลา
    • ทักษะที่จำเป็นในการทำงาน การประสานงาน การใช้โปรแกรมพื้นฐานเช่น MicroSoft การทำเพจ การทำ Layout
    • ทักษะการดำเนินชีวิตต่างๆ ที่ยกระดับคุณภาพชีวิต
  • โอกาสในการพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ
    • สร้างทัศนคติ และทำให้เห็นว่าความรู้กับชีวิตเป็นเรื่องเดียวกัน เพื่อให้อยากหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเอง
    • สนับสนุนให้หาความชอบและอาชีพที่ต้องการให้พบ เพื่อให้เด็กเห็นความสำคัญในการฝึกฝนหาความรู้เพื่อการเป็นมืออาชีพ
    • เพิ่มทางเลือกในการพัฒนาตนเองและการศึกษานอกระบบอย่างเป็นที่ยอมรับ นอกเหนือจากการเข้าเรียนในระบบเท่านั้น


โดยเด็กที่ออกจากระบบการศึกษาในชุมชนคลองเตยที่ได้รับการฝึกพัฒนาทักษะและเพิ่มโอกาสจากโครงการคลองเตยดีจังสามารถทำงานประสานงาน และทำงานที่ได้รับการฝึกฝนทักษะได้อย่างมีคุณภาพ สร้างรายได้และเพิ่มคุณค่าในตนเองได้ในชีวิตจริง แต่ด้วยขีดจำกัดในด้านกำลังคนของโครงการที่จำเป็นต้องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ทำให้การเพิ่มปริมาณเด็กที่ได้รับการสนับสนุนในโครงการเป็นไปได้ยาก ยังมีเด็กที่ออกจากระบบการศึกษาที่ต้องการความเข้าใจและการสนับสนุนอีกจำนวนมาก

การแก้ปัญหาลดจำนวนเด็กที่ออกจากระบบการศึกษาควรดำเนินการไปพร้อมๆ กับการหาทางรองรับและช่วยสนับสนุนเด็กที่ออกจากระบบการศึกษาแล้วอันเป็นเรื่องที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อทั้งสังคม เมื่อเด็กเลือกหรือจำเป็นต้องออกจากการศึกษาในระบบเป็นจำนวนมาก ย่อมกระทบคุณภาพโดยรวมของประชากรทั้งประเทศ กระทบทรัพยากรมนุษย์ คุณภาพชีวิต จำนวนเงินเยียวยาจากรัฐบาล ค่าเฉลี่ย GDP ฯลฯ 

เราทุกคน ครอบครัวของเรา ลูกหลานและเด็กๆ ของเรา ต่างอยู่ในสังคมเดียวกันนี้ เราย่อมเป็นผู้ได้รับผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และเราก็มีส่วนร่วมเป็นผู้สร้างผลกระทบที่ดีและทางเลือกให้กับสังคมนี้ได้เช่นกัน

ที่มาข้อมูล