เกิดในไทย แต่ไม่ได้สัญชาติไทย ชีวิตลำบาก และเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน

เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2022


ตามหลักดินแดนแล้ว บุคคลใดเกิดที่ประเทศใดย่อมมีสิทธิในการได้รับหรือขอสัญชาติของประเทศนั้น ซึ่งแต่เดิมประเทศไทยเคยยึดหลักนี้เช่นกัน แต่ได้ผ่านการเปลี่ยนนโยบายและข้อกฎหมายมาหลายครั้ง จนในปัจจุบันมีข้อกำหนดที่ทำให้เด็กบางคนที่เกิดในประเทศไทย ไม่ได้รับสัญชาติไทย และกลายเป็นเด็กไม่มีสัญชาติ ซึ่งจะได้รับความยากลำบากในการดำรงชีวิต ไม่ได้รับสิทธิในการรักษา การศึกษา อิสระในการเดินทาง การประกอบอาชีพ เหมือนกับบุคคลที่มีสัญชาติ

จากรายงานของ UNHCR พบว่า ในปี พ.ศ. 2564 (ข้อมูลจนถึงปลายเดือนมิถุนายน) มีบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับรัฐบาลไทยราว 553,969 คน และข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยในปี 2563 ระบุว่า มีบุคคลไร้สัญชาติมากกว่า 539,000 โดยเป็นเด็กราว 297,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ซึ่งจำนวนที่สรุปมานี้คือจำนวนผู้ที่ได้มาลงทะเบียนกับทางการเท่านั้น

“คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ” หมายถึงบุคคลที่ไม่ได้รับการพิจารณาให้เป็นคนชาติจากรัฐใด ภายใต้บทบัญญัติกฎหมายของรัฐนั้น หรือหมายถึงบุคคลที่ไม่มีประเทศใดยอมรับว่าเป็นคนชาติของประเทศนั้น ไม่สามารถเข้าถึงบริการของรัฐ เช่น การรักษาพยาบาล การมีงานทำ หรือการประกันทางสังคมต่างๆ แม้สิ่งเหล่านี้จะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานโดยทั่วไปก็ตาม

สาเหตุหลักในปัจจุบันตามข้อกฎหมายที่ประเทศไทยกำหนด ที่ทำให้เด็กที่เกิดในประเทศไทย ไม่ได้รับสัญชาติไทย เกิดจาก 2 สถานการณ์หลักๆ คือ

  1. เด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่มีสัญชาติไทย (คนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคน) ซึ่งตามหลักแล้วจะได้สัญชาติไทยตามพ่อหรือแม่ทันที แต่พ่อแม่ไม่ได้แจ้งเกิด แจ้งเกิดไม่สมบูรณ์ หรือแจ้งเกิดช้าเกินกำหนดโดยไม่มีหลักฐานยืนยันความเป็นลูกกับพ่อแม่ที่มีสัญชาติไทย
  2. เด็กที่เกิดจากพ่อแม่ต่างด้าว พ่อแม่ที่เข้าเมืองชั่วคราว หรือเข้าเมืองไม่ถูกกฎหมาย

ขั้นตอนในการแจ้งเกิดจะต้องมีหลักฐานการเกิด ที่ออกโดยโรงพยาบาล (กรณีคลอดในโรงพยาบาล) หรือผู้ใหญ่บ้าน (กรณีคลอดที่บ้าน หรือที่สาธารณสุข) แล้วนำไปจดทะเบียนเพื่อออกเอกสารเป็นสูติบัตร และการแจ้งเกิดนี้จะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้เพิ่มชื่อเด็กเข้าไปในทะเบียนบ้านแล้ว หากเป็นเด็กที่เกิดใหม่ในชุมชนเมือง การแจ้งเกิดอาจเป็นเรื่องที่สะดวกใช้เวลาในการติดต่อไม่นาน เนื่องจากเด็กมักเกิดในโรงพยาบาล และทุกๆ คนมีทะเบียนบ้าน

แต่สำหรับวิถีชีวิตในพื้นที่ห่างไกล ที่เด็กทุกคนไม่ได้เกิดที่โรงพยาบาล หรือการเดินทางไปโรงพยาบาลหรือสำนักงานราชการต่างๆ เป็นเรื่องยากลำบาก อุปสรรคและข้อจำกัดในการแจ้งเกิดอาจเกิดขึ้นในเกือบทุกขั้นตอน ที่อาจไม่พบในชุมชนเมือง เช่น

  • ทางโรงพยาบาลอาจคิดค่าดำเนินการในการออกหลักฐานการเกิด ซึ่งบางครอบครัวไม่สามารถจ่ายได้
  • บางโรงพยาบาลกำหนดให้ต้องพิสูจน์ว่าพ่อในหลักฐานการเกิดเป็นพ่อของเด็กจริงๆ โดยต้องตรวจ DNA ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง
  • พ่อแม่ชาวต่างด้าวอาจไม่รู้จักผู้ใหญ่บ้าน หรือไม่กล้าติดต่อผู้ใหญ่บ้านเพื่อให้ออกหลักฐานการเกิดให้เพราะสถานะการเข้าเมืองของตน หรือไม่มีพยานยืนยันการเกิด
  • อุปสรรคทางภาษาและการสื่อสาร ทำให้พ่อแม่ที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นหลักไม่มั่นใจ ไม่เข้าใจขั้นตอนวิธีการแจ้งเกิด รวมถึงการถูกลวงให้เสียค่าใช้จ่ายที่สูงเกินจำเป็น
  • ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปสำนักงานของหน่วยราชการต่างๆ รวมถึงค่าเดินทางและค่าเสียเวลาของพยาน (ซึ่งเจ้าหน้าที่มักจำกัดว่าพยานต้องเป็นข้าราชการ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เท่านั้น) ที่สูงเมื่อเทียบกับรายได้ รวมถึงบางครั้งเจ้าหน้าที่ต้องการเอกสารอื่นๆ เพิ่มเติม ทำให้ต้องเดินทางไปกลับหลายครั้ง พ่อแม่ของเด็กอาจไม่มีเงินพอที่จะจ่ายค่าเดินทางทั้งหมดได้

แม้เกิดในประเทศไทย แต่มีปัญหาในการแจ้งเกิดและสถานะของพ่อแม่ ทำให้เด็กที่เกิดไม่มีสัญชาติหรืออาจไม่มีหลักฐานการมีตัวตนอยู่ในระบบทะเบียนประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ไม่ได้รับสิทธิพื้นฐานของผู้มีสัญชาติไทยหรือมีความยากลำบากในการดำเนินชีวิตในหลายมิติ โดยจะเห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเด็กเติบโตขึ้น

ความยากลำบากในการเข้าถึงการศึกษา

แม้เด็กไร้สัญชาติจะสามารถลงทะเบียนเรียนหนังสือในสถานการศึกษาของรัฐ รวมถึงศูนย์การเรียนรู้ได้ แต่ยังมีปัญหาเรื่องการขอทุนการศึกษา และการเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐบางแห่ง รวมถึงการยากลำบากในการไปเรียนในโรงเรียนนอกพื้นที่

ความเหลื่อมล้ำในระบบประกันสุขภาพ

หากเด็กไร้สัญชาติเจ็บป่วย จะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง แม้สถานพยาบาลระดับจังหวัดจะมีนโยบายการดูแลรักษาตามหลักพื้นฐานของความมีมนุษยธรรม และการพิจารณาเงินอุดหนุนผู้ป่วยที่มีรายได้น้อย แต่ก็ยังพบความยากลำบากในด้านการสื่อสาร ความเท่าเทียมในการรักษา และอคติของเจ้าหน้าที่บางท่าน ที่มีต่อกลุ่มคนชายขอบที่ไร้สัญชาติ

อิสระในการเดินทางออกนอกพื้นที่ควบคุม

เด็กไร้สัญชาติไม่สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่ที่อยู่อาศัย ทำงาน หรือเรียนหนังสือได้ โดยเรียกว่าเป็น “เขตพื้นที่ควบคุม” ที่จำเป็นต้องยื่นเรื่องกับหน่วยงานทีเ่กี่ยวข้องเมื่อมีเหตุต้องออกนอกพื้นที่ เช่น เพื่อไปรับการรักษาพยาบาล หรือเพื่อเรียนต่อระดับการศึกษาที่สูงขึ้นในโรงเรียนนอกพื้นที่ โดยการดำเนินเรื่องใช้เวลาค่อนข้างนาน ทำให้วางแผนการดำเนินชีวิตล่วงหน้าได้ค่อนข้างลำบาก



ขอบคุณ :)

คุณธารารัตน์ เล้าเจริญ (ทีมเทใจ) เคยฝึกงานที่มูลนิธิกระจกเงา สำนักงานฝาง และทำงานแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียน G ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กไร้สัญชาติ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย

คุณอรพรรณ์ มงคลพนาสถิต ผู้เชี่ยวชาญการดูแลผู้สูงอายุ จากบริษัท บั๊ดดี้โฮมแคร์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด

อ้างอิง