project อื่นๆ

SHero กองทุนช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ผู้เสียหายจากความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ

ผู้เสียหายจากความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศมีอุปสรรคในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม หากผู้เสียหายเป็นกลุ่มชายขอบที่มีอุปสรรคทางภาษาและฐานะยากจนแล้วนั้น ตลอดเวลาที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอุปสรรคเหล่านี้จะทวีคูณทับซ้อนมากขึ้น กองทุนนี้จึงจัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนทีมทนายความและอาสาสมัครสหวิชาชีพ SHero เพื่อช่วยเหลือด้านกฎหมายและจิตใจ

ระยะเวลาโครงการ 01 ม.ค. 2567 ถึง 15 มี.ค. 2568 พื้นที่ดำเนินโครงการ ทั่วประเทศ

ยอดบริจาคขณะนี้

133,182 บาท

เป้าหมาย

1,181,400 บาท
ดำเนินการไปแล้ว 11%
140 วัน จำนวนผู้บริจาค 61

ผู้เสียหายจากความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศมีอุปสรรคในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างมาก โดยส่วนใหญ่ยังคงมีความเสี่ยงและได้รับผลกระทบด้านจิตใจเพิ่มขึ้นหลังจากเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม อุปสรรคเหล่านี้จะทวีคูณทับซ้อนมากขึ้นหากผู้เสียหายเป็นกลุ่มชายขอบที่มีอุปสรรคทางภาษาและฐานะยากจน ทีมทนายความและอาสาสมัครสหวิชาชีพ SHero ขับเคลื่อนร่วมกันโดยการช่วยเหลือด้านกฎหมายและจิตใจผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งพวกเราได้รับการร้องขอความช่วยเหลือจากเคสที่มีลักษณะซับซ้อนและท้าทาย ผลมาจากช่องว่างในระบบสวัสดิการรัฐและกฎหมายยังมีอยู่มาก ด้วยปริมาณเคสเพิ่มมากขึ้นจนถึงจุดขีดจำกัด ทำให้เราจำเป็นต้องปิดรับเคสเพิ่มชั่วคราว เราจึงจำเป็นต้องมีทีมเจ้าหน้าที่ประจำเพื่อบริหารงานคดี พัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลส่งต่อเพื่อประสิทธิภาพและผลักดันให้นโยบายคำนึงถึงสิทธิผู้เสียหาย

ปัญหาสังคมและวิธีการแก้ไขปัญหา

ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ โดยเฉพาะความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงระหว่างคู่รัก มีรากปัญหามาจากบรรทัดฐานทางเพศที่นำไปสู่การกดทับเชิงอำนาจ ความรุนแรงรูปแบบดังกล่าวไม่เพียงแต่เกิดขึ้นระหว่างปัจเจกแต่เป็นความรุนแรงเชิงระบบเนื่องจากค่านิยมสังคมและวัฒนธรรมที่ยังคงมีอคติทางเพศ ความไม่เท่าเทียมและการเลือกปฏิบัติ ซึ่งความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศมีความละเอียดอ่อนซับซ้อน หากผู้บังคับใช้กฎหมายขาดองค์ความรู้และทัศนคติที่ถูกต้องไม่เข้าใจผลกระทบทางด้านจิตใจต่อผู้ประสบเหตุ อาจส่งผลให้ผู้เสียหายไม่ได้รับการคุ้มครอง ถูกกระทำซ้ำและอาจมีความเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต 

อคติและการตีตราของสังคม ประกอบระบบยุติธรรมที่ไม่เป็นมิตร จึงเป็นอุปสรรคต่อผู้เสียหายในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น การจัดให้มีบริการความช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ผู้เสียหาย รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความเข้าใจ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการตัดสินใจของผู้เสียหายที่จะออกจากความรุนแรงและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ข้อมูลจากรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านความรุนแรงในครอบครัวสำหรับการรายงานตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ประจำปี 2564 ของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ผู้เข้ารับบริการที่ศูนย์พึ่งได้ จำนวน 16,672 ราย เฉลี่ยจำนวน 46 ราย/วัน ในจำนวนเหล่านี้เป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรงที่เป็นเพศหญิงมากที่สุดมีจำนวน 15,056 ราย ในขณะที่ผู้ชายมีจำนวน 1,605 ราย และอีก 11 รายเป็นสมาชิกชุมชนหลากหลายทางเพศ ส่วนในปี 2565-2566 นั้น จำนวนผู้เสียหายยังคงมีแนวโน้มที่สูงขึ้น เห็นได้จากข้อมูลสถิติความรุนแรงในครอบครัวในรอบ 7 ปี ระหว่างปีงบประมาณ 2559-2565 ประกอบกับรายงานการช่วยเหลือผู้เสียหาย ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 ถึงกันยายน 2566 ของศูนย์ปฏิบัติการกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ซึ่งพบว่า มีผู้เสียหายแล้วทั้งหมด 2,312 ราย 

อย่างไรก็ตามข้อมูลเหล่านี้เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งที่ไม่ได้สะท้อนความยิ่งใหญ่ของปัญหาทั้งหมด เนื่องจากยังมีผู้เสียหายจากความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศอีกจำนวนมากที่ไม่ถูกบันทึกอยู่ในระบบของรัฐ เนื่องด้วยเหตุผลทางสังคมและความไม่เป็นมิตรของกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ฐานข้อมูลในระบบของรัฐยังขาดการบูรณาการเชื่อมต่ออย่างชัดเจน แต่ที่เห็นได้ชัดคือตัวเลขจากศูนย์พึ่งได้มีจำนวนหลักหมื่น แต่จำนวนผู้ที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมีเพียงหลักร้อยเท่านั้น เช่นในปี 2564 มีจำนวนคดีการกระทำความรุนแรงในครอบครัว 85 คดี แบ่งเป็นการร้องทุกข์ จำนวน 84 คดี และไม่ร้องทุกข์ จำนวน 1 คดี โดยมีการออกคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ จำนวน 5 คำสั่ง และมีการยอมความ

ชั้นสอบสวน จำนวน 1 คำสั่ง ส่วนข้อมูลของสำนักงานอัยการสูงสุด แสดงจำนวนคดีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ที่เข้าสู่กระบวนการของอัยการในชั้นพนักงานอัยการ แบ่งเป็น สั่งฟ้อง จำนวน 282 เรื่อง ไม่ฟ้อง จำนวน 3 เรื่อง ยุติคดี (ยอมความ) จำนวน 10 เรื่องและใช้มาตรการตามมาตรา 10 จำนวน 6 เรื่องและสำนักงานศาลยุติธรรมมีคดีฟ้องศาลโดยตรงในปี 2564 มีจำนวน 168 คดี และออกคำสั่งกำหนดมาตรการ/วิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ ตามมาตรา 10 วรรคสอง จำนวน 22 คำสั่งเท่านั้นจากสถิติทั่วประเทศ

ขับเคลื่อนเพื่อยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศโดยมีผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง

SHero ริเริ่มในปี 2559 โดยผู้ผ่านพ้นจากความรุนแรงในคู่รักและพบข้อท้าทายมากมายในการขอความช่วยเหลือจากรัฐและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ข้อท้าทายเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการริเริ่มโครงการ โดยขณะนั้น SHero เริ่มขึ้นในพื้นที่ชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งมีผู้หญิง เด็ก และชุมชนชายขอบที่ยังไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือจำนวนมาก การเรียนรู้จากการทำงานให้ความช่วยเหลือกฎหมายในพื้นที่ชายขอบร่วมกับเครือข่ายสหวิชาชีพ และองค์กรพัฒนาชุมชนในพื้นที่ที่ผู้เสียหายมักถูกกีดกันออกจากระบบและเหลือปฏิบัติ ทำให้ SHero สามารถเห็นช่องว่างในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างชัดเจนและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อเผยแพร่สร้างความตระหนักรู้และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายให้ผู้เสียหายเป็นศูนย์กลางในการให้บริการ (Survivor-Centred Approach)

ตลอดเวลา 7 ปีที่ผ่านมา SHero ได้ขยายพื้นที่ในการทำงานมากขึ้น มีการพัฒนาการให้คำปรึกษาและให้องค์ความรู้ผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบเหตุความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ โดยเฉพาะกรณีความรุนแรงระหว่างคู่รักและความรุนแรงในครอบครัว ต่อมาเมื่อมีการอบรมทนายความและผู้จัดการรายกรณีด้านความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ กลุ่มอาสาสมัครจึงทำงานร่วมกันโดยสละเวลานอกเวลางาน ช่วยกันให้คำปรึกษาผู้ประสบเหตุผ่านช่องทางออนไลน์ (Line Official Account @sherothailand) และการลงพื้นที่ในคดีที่ท้าทาย ตลอดจนร่วมวางแผนเพื่อความปลอดภัยและดำเนินการทางคดีเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพและสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้เสียหาย

อย่างไรก็ตามการทำงานในลักษณะอาสายังมีข้อจำกัด ทำให้เราต้องปิดรับเคสชั่วคราวจนกว่าจะหาทรัพยากรและบุคลากรประจำการได้ เนื่องจากเรายังมีคดีที่ทีมเรายังดูแลอยู่จำนวนหนึ่ง การปิดรับเคสเพิ่มจึงมีความจำเป็น ผู้ประสบเหตุความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศที่เราทำงานอยู่ด้วย มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจจากเหตุการณ์และจากระบบกระบวนการยุติธรรมเสียเอง ในขณะเดียวกันเราได้รับการติดต่อขอความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากผู้เสียหายโดยตรง บริษัท ภาคเอกชน ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศที่ส่งต่อเคสมาขอความช่วยเหลือจากชีโร่ ในขณะที่ชีโร่ไม่มีงบประมาณหลัก ไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำ ขับเคลื่อนด้วยกลุ่มอาสาสมัครแบบสมบูรณ์ เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นความสำคัญในการสร้างทรัพยากรเพิ่มขึ้นเพื่อให้ระบบของเราแข็งแรง ทำให้เราสามารถสนับสนุนผู้เสียหายจากความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศอย่างต่อเนื่อง 

ปัจจุบัน SHero ยังคงเป็นหนึ่งในไม่กี่เครือข่ายในประเทศทไทยที่มีนักปฏิบัติการด้านความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศแบบสหวิชาชีพ ประกอบไปด้วยทนายความ นักสังคม นักจิตวิทยาและผู้จัดการรายกรณีที่ผ่านการอบรมและสื่อสารได้หลายภาษา ทีมของพวกเรามีประสบการณ์ตรงในการให้การสนับสนุนผู้เสียหายที่มีบาดแผลทางจิตใจมาอย่างยาวนาน เรามุ่งหวังว่าจะทำการพัฒนาข้อมูลที่เราได้เรียนรู้ผ่านการทำงานไปเผื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายอย่างยั่งยืน ให้นโยบายและกระบวนการยุติธรรมให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพและความปลอดภัยของผู้เสียหายเป็นสำคัญ ตามหลักผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง (survivor-centred approach) 

ด้วยการสนับสนุนผ่านการระดมทุนในครั้งนี้ ภาคีเพื่อความยุติธรรมทางเพศ ของ SHero ไม่เพียงแต่จะสามารถให้การสนับสนุนทางกฎหมายแก่ผู้เสียหายได้เพิ่มขึ้น แต่พวกเรายังทำงานพัฒนาฐานข้อมูลและองค์ความรู้ที่จะมุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงวิชาการและนโยบายเพื่ออุดช่องว่างในระบบยุติธรรมอีกด้วย

ขั้นตอนการดำเนินโครงการ

1. จัดหาทีมประจำการเพื่อการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ

1.1. ดำเนินการจัดหาผู้ประสานงานรายคดี โดยเน้นผู้ที่ผ่านการอบรมด้านความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศโดยมีผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง ที่สามารถประจำการช่องทางออนไลน์ ให้คำปรึกษาผู้เสียหายเบื้องต้น มีทักษะด้านจิตสังคมในการรับฟังผู้เสียหายด้วยใจ ดูแลบาดแผลทางจิตใจเบื้องต้น ช่วยเหลือและประสานงานกับทีมทนายความอาสาเพื่อประเมินความเสี่ยง วางแผนเพื่อความปลอดภัยและสร้างระบบสนับสนุนให้แก่ผู้เสียหาย ในด้านต่าง ๆ รวมถึงการร่วมกันวางแผนปฏิบัติงาน (Action Plan) กับทนายความและประชุมทีมสหวิชาชีพ 

1.2. ระบุบัญชีทนายความอาสา (pro bono lawyer team roster) ในภาคี ฯ ที่ผ่านการอบรมและสามารถให้คำปรึกษาและช่วยเหลือผู้เสียหายในการดำเนินการทางกฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นให้ผู้เสียหายได้รับความคุ้มครองสวัสดิภาพและการเยียวยาตามสิทธิทางกฎหมาย ตั้งแต่ก่อนเริ่มจนถึงสิ้นสุดกระบวนการยุติธรรม 

นอกจากนี้ เราจะมีการติดตามผู้เสียหายภายหลังจากเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไปแล้วเป็นระยะ เพื่อให้การดำเนินการดูแลช่วยเหลือผู้เสียหายสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย  

2. ประสานงานร่วมกับองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับผู้เสียหายแต่ละราย

2.1 ประเมินสถานการณ์และวางแผนการปฏิบัติงานโดยคำนึงถึงหลักผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง (Survivor-Centred Approach) สำหรับผู้เสียหายแต่ละราย และประสานงานเพื่อจัดหา Support System ต่าง ๆ ให้แก่ผู้เสียหาย รวมถึงการร่วมจัดประชุมสหวิชาชีพ 

2.2 ประสานงานกับองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับการให้บริการความช่วยเหลือ (Support System) เช่น ศูนย์พึ่งได้ (OSCC), ศูนย์ปฏิบัติการกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว, บ้านพักเด็กและครอบครัว, โรงพยาบาลตำรวจ เป็นต้น

2.3 ประสานงานกับองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เช่น ตำรวจ,หรือสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นต้น

3. การดำเนินการทางกฎหมาย

ช่วยเหลือในการดำเนินการทางกฎหมายตั้งแต่การแจ้งความร้องทุกข์ จนถึงกระบวนการในชั้นศาล โดยประเมินเคส โดยหลักแบ่งเป็น ความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงในครอบครัว ในกรณีของความรุนแรงในครอบครัว หากผู้เสียหายต้องการได้รับความคุ้มครองสวัสดิภาพ เราจะช่วยทำคำร้องขอและดำเนินคดีคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายซึ่งจะครอบคลุมไปถึงการคุ้มครองสวัสดิภาพของบุตร บุคคลในครอบครัว บุคคลใกล้ชิด และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับผู้เสียหายด้วย

4. การจัดเก็บและประมวลผลข้อมูล

4.1 มีการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่มุ่งเน้นเพื่อป้องกันการถามซ้ำแก่ผู้เสียหาย และเป็นประโยชน์ในการส่งต่อข้อมูลเคสให้หน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานให้ความช่วยเหลืออื่นโดยจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายก่อน

4.2 จัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับข้อท้าทายในการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายแต่ละราย เพื่อการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและกระบวนการยุติธรรม 

ด้วยงบประมาณสนับสนุนจากโครงการนี้ SHero จะสามารถ

1. ให้คำปรึกษากฎหมายผ่านช่องทางออนไลน์แก่ผู้เสียหายจากความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ อย่างต่ำ 200 กรณีต่อปี เพื่อให้ผู้เสียหายได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพและการเยียวยา ตามสิทธิทางกฎหมายและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ยังมีทีมจิตสังคมที่ช่วยรับฟังด้วยใจและดูแลบาดแผลทางจิตใจเบื้องต้นตลอดกระบวนการ รวมทั้งผู้จัดการคดีจะมีบทบาทในการดูแลและประเมินความต้องการและความพร้อมของผู้เสียหายตั้งแต่ผู้เสียหายติดต่อเข้ามาที่ Line Official Account ของ SHero Thailand จากนั้นทำการส่งต่อผู้เสีหายเข้าสู่ระบบการดูแลของทีม SHero Thailand โดยผู้เสียหายเป็นศูนย์กลางในการให้บริการ (Survivor-Centred Approach) 

2. ช่วยเหลือทางกฎหมายโดยการดำเนินการทางคดีแก่ผู้เสียหายจากความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ อย่างต่ำ 15 คดีต่อปี รวมถึงคดีที่มีข้อท้าทายเช่นกรณีผู้เสียหายถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นเวลานาน ไม่มีหลักฐานชัดเจน ผู้เสียหายยากจนและมีอุปสรรคอย่างยิ่งในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนคดีการล่วงละเมิดทางเพศที่กระทำโดยผู้มีอำนาจ ที่ผู้เสียหายอาจไม่ปลอดภัยในการดำเนินการ 

3. พัฒนาระบบให้ความช่วยเหลือโดยเครือข่ายอาสาสมัครที่มีความเชี่ยวชาญให้เข้มแข็งขึ้นและยั่งยืน โดยมีการเก็บข้อมูลข้อท้าทายแต่ละคดี เพื่อการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและกระบวนการยุติธรรม 

ผู้รับผิดชอบโครงการ

  1. บุษยาภา ศรีสมพงษ์, ผู้ก่อตั้ง SHero Thailand
  2. ปณิธาน พุ่มบ้านยาง, กระบวนกรอาสาและผู้ช่วยพัฒนาระบบจัดการเคสของ SHero Thailand
  3. สิรินทิพย์ สมใจ, ทนายความอาสาฝ่ายวิชาการ
  4. ศรกมล ศรีอมรรัตน์, ทนายความอาสา
  5. พรสุดา ผ่องนาค, ผู้จัดการรายกรณีอาสา


ไม่มีข้อมูล

แผนการใช้เงิน

ลำดับ รายการ จำนวน จำนวนเงิน (บาท)
1 ค่าวิชาชีพทนายความอาสาที่มีความเชี่ยวชาญด้านความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ในการลงพื้นที่ดำเนินการทางศาล 3000 บาท/วัน 200 600,000.00
2 ค่าตอบแทนผู้ประสานงานรายคดี ที่สามารถพูดเขียนได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ (หรือภาษาประเทศเพื่อนบ้าน) ประสานงานทั้งทางออนไลน์และลงพื้นที่เมื่อจำเป็นกับผู้ประสบเหตุและทีมสหวิชาชีพอาสา ตลอดจนการจัดเก็บข้อมูล 27000 บาท/เดือน  12 324,000.00
3

กองทุนเพื่อสนับสนุนทีมอาสาสมัคร (ทนายความ นักสังคม นักจิตวิทยา ผู้จัดการรายกรณีและผู้ประสานงาน) ในการทำงานเพื่อช่วยเหลือความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ เช่น

  • ค่าอาหารสำหรับผู้เสียหายและบุตร ชั่วคราว 600 บาท/วัน 
  • ค่าที่พักชั่วคราว กรณีที่ไม่สามารถเข้าบ้านพักฉุกเฉิน 500บาท/คืน
  • ค่ายาและค่ารักษาพยาบาลนอกเหนือจากที่เบิกในจากรัฐ(ในภาวะจำเป็น) 3,000 บาท/คน 
  • ค่าเดินทางของผู้เสียหายหรือทนายความ 500-1000 บาท/เที่ยว
  • ค่าทนายความอาสา 3,000 บาท/วัน
  • ค่าล่ามอาสา 1000-1500 บาท/วัน 
  • ค่าเบี้ยเลี้ยงผู้จัดการรายกรณี 1,500-2000 บาท/วัน เป็นต้น
1 150,000.00
รวมเป็นเงินทั้งหมด
1,074,000.00
ค่าธรรมเนียมของเทใจ (10%)
107,400.00

ยอดระดมทุน
1,181,400.00

บริจาคให้
SHero กองทุนช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ผู้เสียหายจากความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ

จำนวนเงิน
ช่องทางการชำระเงิน

ชำระผ่านการ สแกน/อัพโหลด QR code ด้วย mobile banking application ของ ธนาคารไทยพานิชย์ ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรี ธนาคารกสิกร ธนาคารออมสิน

คุณจะได้ QR code หลังจากยืนยันการบริจาค

ใบเสร็จเพื่อลดหย่อนภาษี

การบริจาคด้วย QR Code ชื่อ- นามสกุลบนใบเสร็จเพื่อลดหย่อนภาษีจะเป็นชื่อเจ้าของบัญชี Mobile banking
ระบุเพื่อใช้สำหรับส่งอีเมลยืนยันการบริจาค
ระบุเพื่อใช้สำหรับส่งอีเมลยืนยันการบริจาค

สำเนาใบเสร็จจะส่งไปทางอีเมลของคุณ หลังจากการบริจาคสำเร็จแล้ว


ข้อมูลบัตรจะถูกดำเนินการอย่างปลอดภัยด้วยผู้ให้บริการที่ผ่านมาตรฐาน PCI-DSS Compliant Omise logo

ชวนเพื่อนมาบริจาคผ่าน