อาสาสร้างพื้นที่ปลอดภัยต้นน้ำแม่กลอง กาญจนบุรี

อาสาปกป้องพ่อแม่ปลาในฤดูวางไข่ สร้างพื้นที่ปลอดภัยต้นน้ำแม่กลอง (จ.กาญจนบุรี)

เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2024

โครงการอาสาปกป้องพ่อแม่ปลาในฤดูวางไข่ สร้างพื้นที่ปลอดภัยต้นน้ำแม่กลอง จ.กาญจนบุรี ได้ดำเนินการตลอดช่วงเวลาฤดูปลาวางไข่หรือฤดูฝน ครอบคลุมเวลาตั้งแต่ 16 มิถุนายน 2566 ถึง 15 กันยายน 2566 โดยแบ่งการทำงานเป็นครั้ง ๆ จำนวน 5 ครั้ง ครั้งละ 4-5 วัน ซึ่งแต่ละครั้งได้มีการเปิดรับอาสาสมัครครั้งละ 10-15 คน เข้ามาขับเคลื่อนการทำงานภาคสนาม ร่วมกับเครือข่ายหน่วยงานต่าง ๆ เช่น หน่วยป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดเขื่อนเขาแหลม อุทยานแห่งชาติเขาแหลม กลุ่มคนอาสาเพื่อแผ่นดิน เป็นต้น

รูปแบบการดำเนินงานที่ขับเคลื่อนโดยอาสาสมัครแบ่งออกเป็น 3 ช่วง

ช่วงที่ 1 ช่วงต้นฤดูกาล พวกเรามุ่งเน้นการลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์ เตรียมอุปกรณ์ และมีการฝึกปฏิบัติงานให้กับอาสาสมัครที่เข้ามาใหม่ รวมทั้งการเรียนรู้และทำความเข้าใจสภาพพื้นที่ที่มีความหลากหลาย

ช่วงที่ 2 ช่วงกลางฤดูกาล มุ่งเน้นการทำงานแข่งกับเวลา ออกเรือไปเพื่อช่วยเหลือปลาผ่าน 3 ภารกิจย่อย ได้แก่

  1. ค้นหาอุปกรณ์ทำการประมงผิดกฎหมายออกจากลำน้ำ
  2. ตัด แกะ ปลดปล่อย ช่วยชีวิตปลาออกจากอุปกรณ์ประมงผิดกฎหมายคืนสู่ลำน้ำ
  3. เก็บกู้อุปกรณ์ทำการประมงผิดกฎหมายออกจากลำน้ำ

ช่วงที่ 3 ช่วงท้ายฤดูกาล เน้นการเข้าพื้นที่เพื่อหาความร่วมมือ ประชุมร่วม ประเมินข้อมูลการทำงานเพื่อวางแผน และส่งข้อมูลให้หน่วยงานในความรับผิดชอบนำไปใช้ในการแก้ปัญหาระยะยาวต่อไป

ความประทับใจของผู้ที่ได้รับประโยชน์

“ เราเห็นคนที่ทำงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่จริง ที่มีใจแต่ขาดการสนับสนุนในหลายๆ อย่าง เราได้ใช้ชีวิตกับพี่ๆ น้องๆ อาสากลุ่มใบไม้ ให้ความรู้สึกเหมือนไปทำงานกับญาติพี่น้อง หรือลูกพี่ลูกน้องมากกว่า เพราะทุกคนใส่ใจดูแลกันมากๆ ประทับใจสุดๆ เป็นพื้นที่ปลอดภัยสุด อยากมีโอกาสได้เจอทุกคนอีก ได้เรียนรู้จักการให้มากกว่าการรับไปด้วยกันอีก ขอบคุณประสบการณ์ครั้งนี้จริงๆ ที่หลังจากนี้ทุกครั้งที่เราหาปลาเราคงมีจิตสำนึกส่วนนี้ฝังอยู่ในใจและถ่ายทอดต่อไปให้คนรอบตัวได้รู้และได้ตระหนักจริงๆ ” คุณไอรินทร์ สมสรรพมงคล อาสาสมัครโครงการ

“ เป็นช่วงเวลา 4 วัน 3 คืน ที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และคราบน้ำตา โดยเป็นการนอนแพแบบไม่มีไฟฟ้า ต้องตักน้ำจากแม่น้ำมาอาบ นี่ยังไม่รวมกับทางขึ้นลงแพที่ลาดชันพอฝนตกดินก็เละและลื่น งานอาสานี้เป็นมากกว่างานอาสาคือความสัมพันธ์ เราได้มานั่งคุยกัน ปรึกษากัน ช่วยเหลือกัน และใช้เวลาร่วมกันในการทำสิ่งที่เป็นเป้าหมายเดียวกัน และทำให้รู้ว่าคนทำงานตรงนี้ต้องมีคุณภาพชีวิตแบบนี้อยู่ตลอด ไม่ใช่แค่เรื่องคุณภาพชีวิต แต่ยังมีเรื่องของความพร้อมของสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน มันน่าเศร้าใจที่ไม่มีอะไรเลยสักอย่างที่ ‘มากเพียงพอ’ จะใช้ มันน่าเศร้าใจมากเลยที่งานอนุรักษ์มันดู ‘ไม่สำคัญพอ’ ที่จะได้รับการสนับสนุนทั้งกำลังคน อุปกรณ์ และงบประมาณ ” คุณชนากานต์ จิตรหาญ อาสาสมัครโครงการ

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการ
กลุ่มที่ได้รับประโยชน์อธิบายจำนวนที่ได้ประโยชน์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
พื้นที่ป่าเกิดพื้นที่ปลอดภัยของปลา สัตว์น้ำ และสัตว์ป่า ครอบคลุมพื้นที่อำเภอทองผาภูมิ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี200,000 ไร่พื้นที่อนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ และสัตว์ป่า ในบริเวณผืนน้ำได้รับการปกป้องจากการออกทำงาน ลาดตระเวณ ทั้งจากอาสาสมัคร และจากเจ้าหน้าที่ภาคสนามจากหน่วยประมงฯ และอุทยานฯ โดยได้มีการสนับสนุนทรัพยากรทำงาน เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง เสบียง ไฟฉาย กระเป๋ากันน้ำ ยารักษาโรค จากการดำเนินงานของโครงการ
รูปภาพการดำเนินกิจกรรม