ความเคลื่อนไหว

  • ความคืบหน้าโครงการ > สี่ขาอิ่มท้อง

    มอบสิ่งของจำเป็นให้สถานพักพิงบ้านหมาแม่มณี

    7 กุมภาพันธ์ 2024

    กิจกรรมมอบสิ่งของที่จำเป็นให้แก่ “ สถานพักพิงบ้านหมาแม่มณี ” โดยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2566

    ซึ่งน้องหมา แมว บ้านแม่มณีกว่า 500 ชีวิต ที่อยู่ภายใต้โครงการ “สี่ขาอิ่มท้อง” และได้รับผลกระทบจากการขาดอาหารและสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีวิต โดยบางตัวมีอาการป่วยซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงเมื่อขาดสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น

    โดยยอดบริจาคที่ได้รับสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใจดีผ่านการระดมทุนทางเว็บไซต์เทใจ ช่วยส่งผลให้น้องหมาน้องแมวกว่า 500 ชีวิต ได้มีข้าวสารและอาหารสดไว้บริโภคพร้อมข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของน้องหมาน้องแมว อีกทั้งยังสามารถช่วยบรรเทาทุกข์จากการขาดยารักษาอาการป่วย ส่งผลให้น้องหมาน้องแมวกว่า 500 ชีวิตของบ้านหมาแม่มณีมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสุขภาพกายสุขภาพใจที่ดีขึ้น และยังเป็นพลังสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้ให้สังคมประเด็นการใส่ใจเพื่อนร่วมโลกอย่างน้องหมาน้องแมวจรที่เป็นปัญหาสังคมที่หลายๆ คนมองข้ามและไม่ได้ให้ความใส่ใจมากพอจนเกิดปัญหาสังคมต่างๆ ตามมา

    ดังนั้นกลุ่มผู้จัดทำโครงการ สี่ขาหมาอิ่มท้อง จึงเป็นพลังเล็กๆ ที่จะทำให้ปัญหาหมาจรแมวจรที่ถูกทอดทิ้งได้รับการสนใจจากสังคมและเกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของน้องหมาน้องแมวต่อไปในอนาคต เพื่อความยั่งยืนของสังคมและคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเท่าเทียมต่อไป

    ความประทับใจของผู้ที่ได้รับประโยชน์ 

     " รู้สึกประทับใจอย่างมากที่พวกเราได้ทำโครงการนี้ขึ้นมา ได้นำเงินที่ได้จากการบริจาคนำมาซื้อข้าวสารและอาหารที่ทางสถานพักพิงหมาป้ามณีกำลังขาดแคลน สามารถช่วยเหลือน้องหมาน้องแมวหลายร้อยชีวิตให้อิ่มท้องไปได้หลายมื้อ " คุณนวล และคุณเอ  

    ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการ
    กลุ่มที่ได้รับประโยชน์อธิบายจำนวนที่ได้ประโยชน์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
    สัตว์หมาและแมวบ้านหมาป้ามณี500 ตัวสุนัขและแมวได้อาหาร และของใช้ที่เป็นปัจจัย 4 เพื่อดำรงชีวิตต่อ 
    รูปภาพการดำเนินโครงการ




    วิดีโอดำเนินโครงการ

    อ่านต่อ
  • ความคืบหน้าโครงการ > The White Room SciFair 2023: นิทรรศการวิทยาศาสตร์เพื่อน้องโรงเรียนบ้านจอมบึง

    จัดนิทรรศการวิทยาศาสตร์เพื่อน้องโรงเรียนบ้านจอมบึง

    2 กุมภาพันธ์ 2024

    วันจัดกิจกรรม : วันที่ 20 สิงหาคม 2023 เวลา 8.15 - 15.45 น.
    สถานที่ : โรงเรียนบ้านจอมบึง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี
    จำนวนผู้เข้าร่วมและได้ประโยชน์จากกิจกรรม : นักเรียน 150 ครู 10 คน
    จำนวนผู้จัดกิจกรรม : 27 คน
    ภาพรวมของผลการจัดกิจกรรม :

    • ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสนุกกับการเรียนรู้ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของกิจกรรม ที่อยากสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่สนุกและเปิดกว้างให้แก่นักเรียน
    • ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมองว่าทีมงานสามารถอธิบายเนื้อหาให้เข้าใจง่าย
    • ผู้เข้าร่วมกิจกรรมรู้สึกว่าความรู้ที่ได้รับจากค่ายมีประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน
    • ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถประยุกต์ใช้ทักษะและหลักการวิทยาศาสตร์ในการแก้ปัญหาได้ วัดผลจากความสำเร็จของการทำภารกิจที่ได้รับมอบหมาย (มีคะแนนเป็นตราประทับในสมุดค่าย)
    • ลักษณะของกิจกรรมทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมเป็นอย่างดี ทั้งในด้านการลงมือทำ การลองผิดลองถูก และแสดงความคิดเห็น

    กิจกรรมที่เกิดขึ้น : แบ่งเป็น 2 ส่วน คือกิจกรรมบนเวทีกลาง และกิจกรรมฐาน มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

    กิจกรรมเวทีกลาง

    • Sodium Bomb โชว์วิทยาศาสตร์ โยนโซเดียมลงน้ำ เพื่อให้เกิดระเบิดขึ้นจากแก๊สไฮโดรเจน นักเรียนได้เรียนรู้หลักการ ปฏิกิริยาไม่ผันกลับและปฏิกิริยาเคมี
    • Titanic กิจกรรมการแข่งขันโดยให้นักเรียนผลัดกันวางลูกแก้วในเรือในขันน้ำ โดยนักเรียนที่วางลูกแก้วแล้วทำเรือจมจะเป็นทีมที่แพ้ และทีมที่วางลูกแก้วก่อนทีมที่ทำให้เรือจมได้จะเป็นทีมที่ชนะ นักเรียนได้เรียนรู้หลักการ แรงลอยตัวและสมดุล
    • ปิดตา ปิดจมูก ปิดปาก ชิมรส นักเรียนจะปิดตา และปิดจมูก เพื่อชิมรสน้ำผลไม้หรืออาหาร และนักเรียนจะต้องทายว่าอาหารที่ทานเข้าไป คืออะไร นักเรียนได้เรียนรู้หลักการ ประสาทสัมผัสทั้ง 5
    • แข่งตอบคำถามวิทยาศาสตร์ นักเรียนจะแข่งขันกันตอบปัญหาด้านดาราศาสตร์ โลก พระอาทิตย์ ดวงดาว และเทคโนโลยีที่พบได้ในชีวิตประจำวัน นักเรียนได้เรียนรู้หลักการ โลก ดาราศาสตร์ และดวงดาว
    • ทายขนาดและปริมาตร นักเรียนจะทายขนาดและปริมาตรของวัตถุโดยใช้อุปกรณ์วัดที่มีบนร่างกายและมีปริมาณจำกัดเพื่อทายขนาดและปริมาตรของวัตถุ นักเรียนได้เรียนรู้หลักการ คณิตศาสตร์ - ความยาวและปริมาตร
    • อะไรอยู่ข้างหลัง นักเรียนจะมีแผ่นป้ายแปะอยู่ข้างหลัง และนักเรียนจะต้องตั้งคำถามใช่หรือไม่กับเพื่อน เพื่อทายข้อความหลังแผ่นป้ายให้ได้ จากนั้นนักเรียนจะทำการยืนเรียงกันตามลำดับตัวอักษร ส่วนสูง หรือชื่อเล่น เพื่อเรียงลำดับภายในกลุ่ม นักเรียนได้เรียนรู้หลักการ การตั้งคำถาม และ การจัดกลุ่ม
    • แข่งไฟฟ้าสถิต นักเรียนจะใช้ลูกโป่งถูกับผมและนำไปใช้ในการจับกระดาษ ใครสามารถนำกระดาษไปไว้จากตะกร้าหนึ่งไปยังอีกตะกร้าหนึ่งได้เร็วกว่าจะเป็นทีมที่ชนะ นักเรียนได้เรียนรู้หลักการ ไฟฟ้าสถิต
    • แข่งพับเครื่องบินกระดาษ นักเรียนแข่งกันพับเครื่องบินกระดาษโดยกลุ่มที่สามารถปาเครื่องบินไปได้ไกลที่สุดเป็นทีมที่ชนะ นักเรียนได้เรียนรู้หลักการ แรงเสียดทานและแรงลอยตัว

    กิจกรรมฐาน

    • หอคอยโลหิต เข้าใจถึงการถ่ายทอดทางพันธุกรรมผ่านทางหมู่เลือด เข้าใจถึงปัจจัยที่มีผลต่ออัตราการเต้นของชีพจรและสามารถวัดชีพจรได้ เข้าใจถึงโครงสร้างของระบบหมุนเวียนโลหิต
    • ปกป้องไข่ เข้าใจหลักการของแรงลัพธ์ เข้าใจถึงการออกแบบเกราะเพื่อปกป้องพัสดุได้
    • ปริศนาห้องมืด เข้าใจสมบัติของแสง (การสะท้อน หักเห การเดินทางของแสงผ่านตัวกลาง) การเกิดรุ้ง สีและการมองเห็น เข้าใจหลักการเข้ารหัส และถอดรหัสเพื่อรักษาความลับข้อมูล สามารถรวบรวม จัดลำดับ และเชื่อมโยงข้อมูล รวมถึงแก้ไขปัญหาอย่างมีตรรกะ
    • นักสืบไขคดี เข้าใจถึงความสำคัญของค่า pH และการวัดกรด เบส เข้าใจถึงวิธีการแยกสารด้วยโครมาโตกราฟี เข้าใจถึงลักษณะของลายนิ้วมือ และการใช้ลายนิ้วมือในงานนิติวิทยาศาสตร์
    • กระดาษลายหินอ่อน เข้าใจการเกิด polymer โดยมีตัวอย่างเป็นสีอะคริลิก เข้าใจผลของแรงตึงผิว ต่อวัตถุบนผิวน้ำ
    • อาหารแสนอร่อย เข้าใจผลของอุณหภูมิต่อการเปลี่ยนสถานะของน้ำ (เหลว>แก๊ส) และปริมาตร-ความดันของไอน้ำที่ทำให้ป๊อปคอร์นพองตัว เข้าใจถึงการสุกของแป้งคือการเปลี่ยนแปลงทางเคมี ที่ผันกลับไม่ได้ เข้าใจถึงการเกิดไอศกรีมเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบผันกลับได้
    • ฟองสบู่ยักษ์ เข้าใจเรื่องแรงดันอากาศ เข้าใจปัจจัยที่มีผลต่อการลอย-จม ของวัตถุในอากาศ รู้จักแรงตึงผิว และบทบาทของสารลดแรงตึงผิวการทำงานของสารซักล้าง เช่น สบู่ แชมพู
    ความประทับใจของผู้ที่ได้รับประโยชน์ 

    " ครั้งนี้สนุกมากๆ ชอบมากๆ แบบชอบที่สุดในโลก มีแต่กิจกรรมสนุกๆ เต็มไปหมด โดยเฉพาะกิจกรรมสืบสวนที่ลึกลับซับซ้อน และมีพี่สตาฟคอยช่วยเหลือเราตลอดเวลา แล้วก็ค่ายนี้ดีมากๆ เลยค่ะ เพราะมีพี่ๆ ที่พูดหลายภาษาได้ " นักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

    " ชอบกิจกรรมโยนไข่ ได้ห่อไข่ และรู้วิธีการทำให้ไข่ตกแล้วไม่แตก " นักเรียนชายชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 

    ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการ 
    กลุ่มที่ได้รับประโยชน์ อธิบายจำนวนที่ได้ประโยชน์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
    เด็กและเยาวชนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 โรงเรียนบ้านจอมบึง จ.ราชบุรี150 คน
    (ในจำนวนนี้ ประมาณครึ่งหนึ่งที่มีความด้อยโอกาสในด้านต่างๆ เช่น ความรุนแรงในครอบครัว รายได้ครัวเรือนที่ต่ำ)
    • นักเรียนสามารถประยุกต์ใช้หลักการวิทยาศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาผ่านสถานการณ์จำลองได้ (วัดผลจากความสำเร็จจากการทำภารกิจที่ได้รับในค่าย)
    • นักเรียนสามารถอธิบายหลักการวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันได้ (วัดผลจากการพูดคุยกับนักเรียน ร่วมกับสังเกตนักเรียนระหว่างทำกิจกรรม)
    • นักเรียนได้ทบทวนความรู้วิทยาศาสตร์ในระดับชั้น ป.4-6 และได้รับความรู้ที่สูงกว่าระดับชั้นของตนเอง
    • นักเรียนมีแรงบันดาลใจ ในการตั้งใจเรียนวิชาด้าน STEM เพื่อโอกาสในการศึกษาต่อ ทุนการศึกษา และอาชีพในอนาคต จากการพูดคุยกับพี่ๆ ผู้จัดกิจกรรม
    โรงเรียนโรงเรียนบ้านจอมบึง จ.ราชบุรี1 โรงเรียน
    • ครูมีไอเดียใหม่ๆ ในการออกแบบกิจกรรมในการเรียนการสอนให้น่าสนใจขึ้น โดยใช้อุปกรณ์ใกล้ตัว ร่วมกับ gamification
    • บริจาคหุ่นกายวิภาคให้แก่โรงเรียน ทำให้นักเรียนสามารถเรียนวิทยาศาสตร์แบบ interactive มากขึ้น (ใช้เงินนอกเหนือจากเงินบริจาคที่ได้รับผ่านเทใจ)
    รูปภาพการดำเนินกิจกรรม














    อ่านต่อ
  • ความคืบหน้าโครงการ > เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) ให้สวนสาธารณะ

    มอบเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) ให้สวนสาธารณะ

    2 กุมภาพันธ์ 2024

    ตั้งแต่โครงการเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) ให้สวนสาธารณะ ระดมทุนสำเร็จ นำโดย ผศ. นพ. มล. ทยา กิติยากร และทีมงาน ได้จัดซื้อเครื่องกระตุกไฟฟ้า (AED) จำนวน 8 เครื่อง พร้อมแนะนำการช่วยเหลือฟื้นคืนชีพ (CPR) เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ส่งมอบให้แก่ 5 สวนสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ต่อไปนี้

    ตัวอย่างเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า

    1. ส่งมอบเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าให้สวนหลวง ร.9 จำนวน 3 เครื่อง 

    2. ส่งมอบเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าให้สวนรถไฟ จำนวน 2 เครื่อง 

    3. ส่งมอบเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าให้สวนบางแคภิรมย์ จำนวน 1 เครื่อง 

    4. ส่งมอบเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าให้สวนบางบอน จำนวน 1 เครื่อง 

    5. ส่งมอบเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าให้สวนเบญจกิติ จำนวน 1 เครื่อง 


    และจากการดำเนินการมีเงินคงเหลืออีก 27,830 บาท ทางโครงการฯ จะนำไปส่งเสริมกิจกรรมการช่วยเหลือการฟื้นคืนชีพ (CPR) ในโครงการวิ่ง 1669 CPR run และกิจกรรมฝึกสอน CPR ร่วมกับ Park run Thailand ต่อไป


     

    อ่านต่อ
  • ความคืบหน้าโครงการ > ส่งน้องเรียนผู้ช่วยพยาบาล

    มอบทุนการศึกษาแก่เยาวชนในการอบรมหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ จำนวน 11 คน

    1 กุมภาพันธ์ 2024

    ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 โดยส่วนใหญ่ผู้สูงอายุมักป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อแต่เรื้อรัง ขณะเดียวกันเด็กจำนวนมากขาดโอกาสทางการศึกษา เพราะครอบครัวไม่มีเงินเพียงพอที่จะส่งน้องเรียน

    โรงเรียนอนันตรักษ์การบริบาลตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา 2 ด้าน จึงได้จัด โครงการการเรียนรู้สู่การเป็นนักบริบาลมืออาชีพ (ผู้ช่วยพยาบาล) โดยการอบรมหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เรียนทำให้มีโอกาสในการจ้างงานที่มากขึ้น มีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต อีกทั้งพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้สูงอายุอย่างถูกวิธีเพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

    กิจกรรมการดำเนินโครงการ

    เพื่อให้เยาวชนด้อยโอกาสมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา โครงการฯ จึงวางแผนให้ทุนการศึกษาแก่เยาวชนด้อยโอกาสในการอบรมหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง จำนวน 11 คน เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจในการดูแลผู้สูงอายุอย่างถูกต้องและเหมาะสม มีชีวิตที่ดีขึ้นด้วยการมีอาชีพเสริมหรืออาชีพหลักในสายงานดังกล่าว และมีรายได้ที่เพียงพอมั่นคง โดยมีกระบวนการทำงานดังนี้

    • ประชาสัมพันธ์ไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั้งในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และเพชรบุรี เพื่อคัดเลือกนักเรียนด้อยโอกาสอายุ 18 ปีขึ้นไป ได้แก่ เด็กที่มีฐานะยากจน เด็กกำพร้า ท้องไม่พร้อม เป็นต้น ผ่านโรงเรียนในเครือข่ายกศน.ที่มีความสนใจ 
    • จัดการอบรมหลักสูตรดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง ในระยะเวลา 3 เดือน (แบ่งเป็นภาคทฤษฎีระยะเวลา 1 เดือนครึ่ง และภาคปฏิบัติระยะเวลา 1 เดือนครึ่ง)
    • หลังจบการศึกษา ทางโรงเรียนอนันตรักษ์การบริบาลจะออกใบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้ที่ผ่านการเข้าอบรม และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพตามที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพรับรองและช่วยประสานกิจการผู้สูงอายุเพื่อเพิ่มโอกาสในการทำงาน
    • ติดตามประเมินผล สรุปผล และติดตามความก้าวหน้าของนักเรียนที่ได้รับทุนการศึกษา

    ผู้เข้าร่วมโครงการ


    ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการ
    กลุ่มที่ได้รับประโยชน์อธิบายจำนวนที่ได้ประโยชน์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
    เด็กและเยาวชนเยาวชนในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดเพชรบุรี
    11 คน
    • ได้รับทักษะในการดูแลผู้สูงอายุอย่างถูกวิธีและเหมาะสม มีชีวิตที่ดีขึ้นจากการมีอาชีพที่มั่นคง
    • มีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ทำให้ลดโอกาสในการประกอบอาชีพที่ไม่สุจริต
    ผู้สูงอายุผู้สูงอายุในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ผู้สูงอายุจำนวน 55 คน
    (1 ผู้ดูแล : 5 ผู้สูงอายุ) 
    ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องเหมาะสม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

    ข้อสรุปหรือข้อเสนอแนะในการให้ความช่วยเหลือครั้งถัดไป

    วางแผนขยายผลในปีต่อไป โดยอาจเพิ่มทุนการศึกษาจำนวน 100 – 200 ทุนต่อปี (เบื้องต้นอาจจะหาทุนด้วยวิธีการระดมทุนจากผู้ที่สนใจ ทำ MOU กับสถานประกอบการเพื่อเป็นการศึกษา ทำงานทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ) เพื่อให้สามารถดูแลผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้นในแต่ละปีได้ครอบคลุมมากขึ้นและเพิ่มโอกาสทางอาชีพให้แก่เยาวชนด้อยโอกาส

     ความประทับใจของผู้ที่ได้รับประโยชน์ 

     วิดีโอสัมภาษณ์ ของนางสาวเพ็ญฤดี ไพรพนา
     วิดีโอสัมภาษณ์ ของนางสาวน้ำผึ้ง กระชังแก้ว
     วิดีโอสัมภาษณ์ ของนางสาววริศรา พลายงาม

     วิดีโอสัมภาษณ์ ของนางสาวนันท์นภัส อยู่ยั่งยืน

    รูปภาพการดำเนินกิจกรรม






    อ่านต่อ
  • ความคืบหน้าโครงการ > บ้านพักพิงฯ เพื่อครอบครัวผู้ป่วยเด็ก

    ความช่วยเหลือบ้านพักพิงครอบครัวผู้ป่วยเด็ก ตั้งแต่ปี 2564-2566

    29 มกราคม 2024

    มูลนิธิโรนัลด์ แมคโดนัลด์ เฮาส์ ประเทศไทย มุ่งมั่นเดินหน้าสานต่อการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยเด็กและครอบครัว ผ่านโครงการบ้านพักพิงโรนัลด์ แมคโดนัลด์ เฮาส์ เพื่อครอบครัวผู้ป่วยเด็ก

    ตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน บ้านพักพิงฯ เพื่อครอบครัวผู้ป่วยเด็กมีพื้นที่บริการทั้งหมด 4 แห่ง ดังนี้

    1. บ้านพักพิงฯ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก)
    2. บ้านพักพิงฯ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี
    3. บ้านพักพิงฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย
    4. บ้านพักพิงฯ โรงพยาบาลศิริราช

    ให้บริการที่พักชั่วคราวให้กับครอบครัวผู้ป่วยเด็กขั้นวิกฤต และโรคเรื้อรัง ที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด ให้ได้อยู่ใกล้ชิดบุตรหลานในยามที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน ห้องน้ำ ห้องอาหาร มีมาตรการคัดกรองและปฏิบัติตามขั้นตอนความปลอดภัยสูงสุด โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ตลอด 24 ชั่วโมง

    จากการระดมทุนโครงการบ้านพักพิงฯ เพื่อครอบครัวผู้ป่วยเด็ก มูลนิธิฯ ได้ให้การช่วยเหลือครอบครัวผู้ป่วยเด็กได้มากกว่า 5,300 คน ให้ได้อยู่ใกล้ชิดบุตรหลานระหว่างที่รักษาตัวในโรงพยาบาล โดยมีรายละเอียดดังนี้

    • ปี พ.ศ. 2564 ให้บริการผู้เข้าพักกว่า 1,000 คน
    • ปี พ.ศ. 2565 ให้บริการผู้เข้าพักกว่า 1,300 คน
    • ปี พ.ศ. 2566 ให้บริการผู้เข้าพักกว่า 3,000 คน
    ความประทับใจของผู้ที่ได้รับประโยชน์

     " น้องป่วยเป็นโรคมะเร็งกระดูก ระยะเวลาในการป่วยมากกว่า 1 ปี อาการเริ่มแรกของน้องมีอาการเจ็บที่หัวเข่าด้านขวาเดินไม่ถนัดแต่ฝ่าเท้ายังเหยียบพื้นได้อยู่ จึงได้พาน้องไปตรวจที่โรงพยาบาลตราดคุณหมอให้น้อง Admit และพาน้องไปสแกนกระดูก แต่คุณหมอยังไม่แน่ใจจึงได้ส่งตัวน้องมารักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ การเดินทางลำบากเพราะน้องไม่สามารถเดินเองได้กลัวกระดูกแตกได้รับคำแนะนำจากคุณหมอ ให้มาเข้าพักที่บ้านพักพิงฯ เพื่อครอบครัวผู้ป่วยเด็ก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ชั้น 12 ตึก(สก.) หลังจากที่ได้เข้ามาพักในบ้านพักพิงฯ รู้สึกอบอุ่นสบายใจ อยู่แบบครอบครัวแบบพี่น้อง มีรอยยิ้มมีเพื่อนใหม่ๆ ทำให้มีกำลังใจดูแลลูก
    และสุดท้ายนี้ ต้องขอขอบคุณหมอ คุณพยาบาล และเจ้าหน้าที่ของบ้านพักพิง ที่ได้ดูแลทั้งผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยที่ได้มาเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจุฬาฯ แห่งนี้ หากมีอะไรที่คนเป็นแม่จะขอพรได้ ก็ขอให้ลูกหายจากอาการป่วย และกลับไปใช้ชีวิตในวัยเด็ก เหมือนเด็กๆ ในวัยเดียวกัน และเจริญเติบโตไปตามวัยอย่างแข็งแรง ปราศจากโรคภัยใดๆ ตลอดไป "
    แม่อัจฉราพร ภู่ระย้า อายุ 38 ปี อาชีพทำสวน มาจากจังหวัดตราด และน้องต้นข้าว อายุ 13 ปี

     " น้องป่วยด้วยโรคมาแฟนชิโดม ป่วยมาเป็นระยะเวลา 12 ปี ตอนคลอดน้องออกมาได้ 2 วัน อาของน้องได้สังเกตเห็นตาดำของน้องทั้ง2 ข้างเป็นสีฟ้าจึงตามหมอมาดูอาการ ในตอนนั้นหมอก็ยังให้คำตอบไม่ได้ ทางโรงพยาบาลจึงส่งตัวน้องมารักษาต่อที่โรงพยาบาลศิริราช จึงได้ทำการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชประมาณ 2 อาทิตย์ ได้รู้ผลว่าน้องเป็นโรคมาแฟนชิโดมค่ะ ตอนแรกก็มีความกังวลว่าจะมาทำอะไรตรงไหนก่อน และต้องนำตัวน้องไปรักษาที่ตึกไหนและต้องไปติดต่อยังไง น้องจะเป็นโรคอะไรที่ร้ายแรงรึเปล่าและจะมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายหรือเปล่า เพราะไม่รู้ว่าการที่เรามีบัตรส่งตัวมาแล้วจะเสียค่าใช้จ่ายยังไง ไม่รู้ว่าจะพักที่ไหน และทางพยาบาลก็ได้แนะนำให้มาเข้าพักที่บ้านพักพิงฯ เพื่อครอบครัวผู้ป่วยเด็ก โรงพยาบาลศิริราช
    เมื่อเข้ามาพักแล้วดิฉันรู้สึกมีความสุขและสบายใจมาก ทั้งเรื่องที่พักอาศัยและอาหารการกินและรู้สึกอบอุ่น เจ้าหน้าที่บ้านพักพิงฯ คอยให้กำลังใจ เวลาที่รู้สึกไม่ดี รู้สึกดีใจมากที่ได้อยู่ใกล้ลูกในขณะที่รักษาตัวในโรงพยาบาล ต้องขอพูดว่าทั้งคุณหมอคุณพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่บ้านพักพิงฯ เป็นคนพิเศษของแม่ทุกๆ ท่านเลยคะ ถ้าดิฉันขอพรได้จะขอให้ลูกไม่ป่วย และขอให้น้องแข็งแรงและออกมาอยู่กับพ่อแม่นานๆ ตลอดไปค่ะ ขอขอบพระคุณผู้ใหญ่ใจดีทุกท่านเลยนะคะ "
    แม่อัมพิกา แย้มศิลป์ อายุ 33 ปี อาชีพค้าขาย มาจากจังหวัดราชบุรี เป็นแม่ของน้องซี

     " น้องเป็นผู้ป่วยเนื้องอกในสมอง อาการเริ่มต้นอ่อนเพลีย คลื่นใส้ อาเจียน ทานอาหารไม่ได้อยู่บ่อยครั้ง จึงได้สังเกตุอาการและตัดสินใจปรึกษาหมอให้ทำการวินิจฉัยที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หลังจากได้ทำการ CT Scan แพทย์วินิจฉัยว่าน้องได้เป็นเนื้องอกในสมอง ทางโรงพยาบาลได้ส่งตัวน้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ทำให้คุณแม่เดินทางไม่สะดวกต้องใช้เวลามาก อีกทั้งต้องทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง ต้องฉายแสง 30 ครั้ง ไม่สะดวกต่อการเดินทางไป-กลับ
    เมื่อเริ่มรับการรักษาคุณหมอได้หาที่พักให้ รู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่รู้ว่าครอบครัวของเราจะพักที่ไหน ทางคุณหมอส่งเข้าพัก ที่บ้านพักพิงฯ เพื่อครอบครัวผู้ป่วยเด็ก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และหลังจากที่ได้เข้ามาพักในบ้านพักพิงฯ รู้สึกอบอุ่นสบายใจ อยู่แบบครอบครัวแบบพี่น้อง และสามารถพูดระบายความรู้สึกและแชร์การรักษาตัวของน้องเบื้องต้น และเมื่อเกิดปัญหาหรือความกังวลใจก็จะได้กำลังใจจากผู้ปกครองและเจ้าหน้าที่บ้านพักพิงฯ ได้รับคำแนะนำจากผู้ปกครองที่มีให้ซึ่งกันและกัน
    สุดท้ายนี้ ต้องขอขอบคุณหมอ คุณพยาบาล และเจ้าหน้าที่ของบ้านพักพิงฯ ทุกท่าน ที่ได้ดูแลทั้งผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยที่ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจุฬาฯ แห่งนี้ ได้เป็นอย่างดี "
    แม่ศิริพร บุตรดี อายุ 36 ปี อาชีพค้าขาย จากจังหวัดนครสวรรค์ เป็นแม่ของน้องมิกซ์ 

     " ลูกชายของแม่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว น้องถูกส่งตัวมาจากโรงพยาบาลในตัวจังหวัด มารักษาต่อที่โรงพยาบาลศิริราช เป็นการรักษาซ้ำ ครั้งที่ 2 ของน้องที่รักษาตัว ทางโรงพยาบาลส่งต่อน้องมารักษาตัวที่นี่เพราะอย่างน้อยน้องยังมีโอกาสรักษาต่อและมีโอกาสจะหายจากโรคที่เป็นอยู่ ช่วงที่มาถึงความรู้สึกแรกทุกอย่างมันวุ่นมาก ไม่รู้ว่าจะต้องดำเนินการอะไรก่อนยังไงบ้าง แต่ด้วยความใจดีของบุคลากรในโรงพยาบาลทุกอย่างจึงเรียบร้อยด้วยดี และที่สำคัญได้รับการแนะนำที่พัก บ้านพักพิงฯ เพื่อครอบครัวผู้ป่วยเด็ก โรงพยาบาลศิริราชให้ด้วย
    เรารู้สึกว่านาทีที่เรามีทุกข์ มีคนยื่นมือช่วยทำให้เรามีความหวัง ได้มีความสุขในเวลาที่ทุกข์ที่สุด บ้านพักแห่งนี้ให้ความอบอุ่น ให้กำลังใจ เป็นที่พึ่งให้คนทุกข์ยากจริงๆ ดิฉันขอให้ทุกข์ท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีความสุข ความเจริญ สิ่งดีๆ ที่ท่านทำให้พวกเรา ขอให้กลับไปหาพวกท่านตลอดไป "
    แม่สุภาพร ฤทธิ์มนตรี อายุ 43 ปี อาชีพเกษตรกร มาจากจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นแม่ของน้องเจษ 

     " น้องป่วยด้วยโรคลิ้นหัวใจรั่วจะเล่าย้อนให้ฟังว่า หลังจากผ่าคลอดน้องเรียบร้อยคุณหมอ พบว่ามีการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ จึงทำการตรวจอย่างละเอียดและพบว่าน้องมีลิ้นหัวใจรั่ว และได้ทำการรักษาน้องตั้งแต่แรกคลอด โดยในปัจจุบันน้องมีการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพราะน้องได้ทำการผ่าตัดรักษาตั้งแต่ตอนนั้น และมีการอัปเดตการเต้นของหัวใจ การทำงานของระบบต่างๆ พอน้องโตขึ้น น้องเคยเกิดภาวะช็อค จึงทำให้ผมต้องเฝ้าระวังน้องเป็นพิเศษ และในตอนนั้นผมก็ลำบากในการที่จะต้องรักษาน้องเพราะต้องเดินทางจากชุมพร เพื่อพาน้องมารักษาโดยที่ผมขับรถส่วนตัวในระยะทางร่วมกว่า 500 กิโลเมตร และยังต้องขับรถเดินทางเพียงคนเดียว ทำให้เหนื่อยและร่างกายอ่อนเพลีย อีกทั้งต้องเฝ้าน้องเป็นระยะเวลานาน
    คุณหมอและพยาบาลได้แนะนำให้เข้าพักบ้านพักพิงฯ เพื่อครอบครัวผู้ป่วยเด็ก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพราะจะได้ดูแลน้องอย่างใกล้ชิด พอได้เข้ามาอยู่บ้านพักพิงจุฬาฯ ทำให้ผมนอนเต็มอิ่มมากขึ้น และมีแรงที่จะดูแลน้องได้ในทุกวัน และเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินยังสามารถลงไปหาน้องได้ทันท่วงที และยังได้กำลังจากครอบครัวผู้ป่วยท่านอื่นๆ ที่คอยให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และกำลังใจจากเจ้าหน้าที่จากบ้านพักพิงด้วย
    สุดท้ายนี้ ต้องขอขอบคุณหมอ คุณพยาบาล และเจ้าหน้าที่ของบ้านพักพิงฯ ทุกท่าน ที่ได้ดูแลทั้งผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยที่ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจุฬาฯ แห่งนี้ ได้เป็นอย่างดี "
    พ่อสุริยา แก้วประสบ อายุ 35 ปี เป็นพ่อของน้องสาคร 

    รูปภาพการดำเนินกิจกรรม





    อ่านต่อ
  • ความคืบหน้าโครงการ > น.เอ๋ย น.นก: ช่วยดึงเด็ก ๆ ออกจากมือถือที

    กิจกรรมการแข่งขันดูนกเมืองพะเยา

    26 มกราคม 2024

    กิจกรรมที่เกิดขึ้นในโครงการ

    • 15 ตุลาคม 2566 ที่อุทยานวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ อบจ.พะเยา : ประชุมจัดเตรียมงาน ครั้งที่ 1 เพื่อร่วมจัดทำแนวทางการจัดเทศกาลดูนกเมืองพะเยา
      ที่อุทยานการเรียนรู้ TK Park พะเยา : ประชุมจัดเตรียมงาน ครั้งที่ 2 เพื่อร่วมวางแผนการดำเนินงาน งบประมาณและแบ่งขอบเขตการทำงาน 
    • 15 พฤศจิกายน 2566 ออนไลน์ผ่าน ZOOM : ประชุมจัดเตรียมงาน ครั้งที่ 3 เพื่อวางแผนการจัดการแข่งขันและกติกาการแข่งขันดูนกเมืองพะเยา 
    • 16 พฤศจิกายน 2566 ที่โรงเรียนบ้านจุน อำเภอจุน : อบรมใช้หนังสือคู่มือและอุปกรณ์ ครั้งที่ 1เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ เข้าสอนความรู้เบื้องต้นและการใช้คู่มือดูนกให้กับนักเรียนโรงเรียนบ้านจุน
    • 17 พฤศจิกายน 2566 ที่โรงเรียนดอกคำใต้วิทยาคม อำเภอดอกคำใต้ : อบรมใช้หนังสือคู่มือและอุปกรณ์ ครั้งที่ 2 เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ เข้าสอนความรู้เบื้องต้นและการใช้คู่มือดูนกให้กับนักเรียนโรงเรียนดอกคำใต้วิทยาคม
      ที่โรงเรียนแม่ใจวิทยาคม อำเภอแม่ใจ : อบรมใช้หนังสือคู่มือและอุปกรณ์ ครั้งที่ 3 เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองเล็งทราย เข้าสอนความรู้เบื้องต้นและการใช้คู่มือดูนกให้กับนักเรียนโรงเรียนแม่ใจวิทยาคม
    • 20 พฤศจิกายน 2566 ที่สถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยพะเยา อำเภอเมืองพะเยา : อบรมใช้หนังสือคู่มือและอุปกรณ์ ครั้งที่ 4 เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองเล็งทราย เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทับพญาลอ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ เข้าสอนความรู้เบื้องต้นและการใช้คู่มือดูนกให้กับเยาวชนในสังกัดสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.)
    • 21 พฤศจิกายน 2566 ที่โรงเรียนบ้านจุน อำเภอจุน : อบรมใช้หนังสือคู่มือและอุปกรณ์ ครั้งที่ 5 เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ เข้าสอนการใช้อุปกรณ์ดูนกให้กับนักเรียนโรงเรียนบ้านจุน
    • 22 พฤศจิกายน 2566 ที่โรงเรียนแม่ใจวิทยาคม และหนองเล็งทราย อำเภอแม่ใจ : อบรมใช้หนังสือคู่มือและอุปกรณ์ ครั้งที่ 6เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองเล็งทราย เข้าสอนการใช้อุปกรณ์ดูนกให้กับนักเรียนโรงเรียนแม่ใจวิทยาคม
    • 24 พฤศจิกายน 2566 ที่โรงเรียนดอกคำใต้วิทยาคม อำเภอดอกคำใต้ : อบรมใช้หนังสือคู่มือและอุปกรณ์ ครั้งที่ 5 เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ เข้าสอนการใช้อุปกรณ์ดูนกให้กับนักเรียนโรงเรียนดอกคำใต้วิทยาคม
    • 26 พฤศจิกายน 2566 ที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองเล็งทราย : ประเมินภาวะติดเกมส์และสุขภาพจิตก่อนเริ่มกิจกรรมการแข่งขันดูนก
    • 26-27 พฤศจิกายน 2566 ที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองเล็งทราย : การแข่งขันดูนกเมืองพะเยา สนามที่ 1 เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองเล็งทราย 
    • 30 พฤศจิกายน 2566 ที่โรงเรียนบ้านจุน อำเภอจุน : อบรมการใช้หนังสือคู่มือและอุปกรณ์ ครั้งที่ 6 เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ เข้าสอนการใช้อุปกรณ์ดูนกเพิ่มเติมให้กับนักเรียนโรงเรียนบ้านจุน
    • 6 ธันวาคม 2566 ที่โรงเรียนบ้านจุน อำเภอจุน : การอบรมใช้หนังสือคู่มือและอุปกรณ์ ครั้งที่ 7 เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ เข้าสอนการใช้อุปกรณ์ดูนกเพิ่มเติมให้กับนักเรียนโรงเรียนบ้านจุน
    • 9-10 ธันวาคม 2566 ที่ท่าเรือโบราณกว๊านพะเยา และบริเวณริมกว๊านพะเยา : เปิดเทศกาลดูนกเมืองพะเยา ครั้งที่ 1 บริเวณลานหน้าอุทยานการเรียนรู้ TK Park พะเยาและอุทยานวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ อบจ.พะเยา โดยรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา ร่วมกับคณะผู้บริหาร อบจ.พะเยา คณะผู้บริหารเทศบาลเมืองพะเยา ผู้บริหารสำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย) มหาวิทยาลัยพะเยา เจ้าหน้าที่อุทยานและอาสาสมัคร เพื่อเป็นการสื่อสารและเปิดพื้นที่ให้กับผู้ที่สนใจทั่วไปเข้าถึงกิจกรรมการดูนก ตลอดจนเพื่อเป็นการแสดงให้ผู้บริหารในหน่วยงานรัฐเห็นถึงควาสำคัญของกิจกรรมที่ส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม สังคม
      การแข่งขันดูนกเมืองพะเยา สนามที่ 2 ท่าเรือโบราณกว๊านพะเยา และบริเวณริมกว๊านพะเยา
    • 16-17 ธันวาคม 2566 ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ อำเภอจุน : การแข่งขันดูนกเมืองพะเยา สนามที่ 3 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ
    • 17 ธันวาคม 2566 ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ อำเภอจุน : ประเมินภาวะติดเกมส์และสุขภาพจิตหลังเข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันดูนก
    • 18 ธันวาคม 2566 ที่อุทยานการเรียนรู้ TK Park พะเยา : ประชุมสรุปผลการดำเนินงานเทศกาลดูนกเมืองพะเยา ครั้งที่ 1 และแนวทางการจัดเทศกาลดูนกเมืองพะเยา ครั้งที่ 2 เพื่อขยายภาคีเครือข่ายร่วมงาน การเปิดรับสมัครอาสาสมัครดูนกเพื่อช่วยงานเจ้าหน้าที่สังกัดกรมอุทยานฯ และการระดมทุน
    • 27 ธันวาคม 2566 ถึง 2 มกราคม 2567 ที่บริเวณลานหน้าอุทยานการเรียนรู้ TK Park พะเยา อุทยานวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ อบจ.พะเยา และลานอนุเสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง : จัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมดูนกริมกว๊านพะเยา ในงานดอกไม้เมืองพะเยา ครั้งที่ 1 โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา 

    ข้อสรุปโครงการ

    1. กิจกรรมเทศกาลดูนกเมืองพะเยาครั้งที่ 1 เป็นการแข่งขันดูนกของเด็กและเยาวชนจากอำเภอเมืองพะเยา อำเภอแม่ใจและอำเภอจุน ทั้งหมด 40 คน โดยเกิดจากความร่วมมือของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองเล็งทราย เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทับพญาลอ และมหาวิทยาลัยพะเยา เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนในโรงเรียนและเยาวชนกลุ่มเปราะบางได้เข้าถึงกิจกรรมการเรียนรู้และเครื่องมือการเรียนรู้ที่เข้าได้ถึงยาก (อุปกรณ์ดูนกและหนังสือคู่มือดูนกมีราคาแพง) รวมถึงยังเป็นการนำเครื่องมือและอุปกรณ์ดูนกที่ทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองเล็งทราย เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทับพญาลอมีอยู่แล้วแต่ไม่ได้ใช้ออกมาใช้ได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด และยังได้พัฒนาบุคลากรให้มีทักษะการถ่ายทอดความรู้และฝึกทักษะให้บุคคลทั่วไปสามารถใช้งานได้อีกด้วย
    2. จากผลการประเมินภาวะติดเกมส์และสุขภาพจิตหลังเข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันดูนก พบว่า จำนวนเด็กที่มีความเสี่ยงเป็นภาวะซึมเศร้าลดลง เหลือเพียง 2 คน และเด็กและเยาวชนที่เป็นผู้เข้าร่วมการแข่งขันไม่มีภาวะติดเกมส์แล้ว แสดงว่าการจัดกิจกรรมแข่งขันดูนกเมืองพะเยานี้สามารถลดความเสี่ยงจากภาวะซึมเศร้าและภาวะติดเกมส์ในเด็กได้จริง
    3. การบริหารจัดการโครงการและงบประมาณ ยังขาดแคลนเจ้าหน้าที่ที่ต้องช่วยเป็นพี่เลี้ยง เนื่องจากเจ้าหน้าที่อุทยานฯ
    4. มีภารกิจหลักอยู่แล้วทำให้งานหลักได้รับผลกระทบ ในครั้งถัดไปทำให้ต้องเปิดรับสมัครอาสาดูนก หรือ ให้ผู้เข้าแข่งขันรุ่นที่ 1 เพื่อช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้เข้าร่วมการแข่งขันรุ่นถัดไป สำหรับการจัดสรรงบประมาณยังไม่เพียงพอสำหรับการจัดกิจกรรมให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด ต้องมีการวางแผนระดมทุนล่วงหน้าก่อนเริ่มกิจกรรมอย่างน้อย 60 วัน และเพิ่มช่องทางการระดมทุน รวมถึงสร้างการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้หลากหลายและกระจายการรับรู้ให้กว้างมากขึ้นนอกจากพื้นที่จังหวัดพะเยา เพื่อดึงคนที่สนใจจากนอกพื้นที่เข้ามาในจังหวัดพะเยามากขึ้น เป็นการกระตุ้นและเชื่อมโยงสู่การสร้างเศรษฐกิจสีเขียวได้ เช่น การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ การท่องเที่ยงเชิงประสบการณ์ เป็นต้น
    ความประทับใจของผู้ที่ได้รับประโยชน์

     " คาดหวังว่าจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาตินกและเกิดอาชีพใหม่คือไกด์นำเที่ยวพาดูนก ได้ความรู้เกี่ยวกับนก วิถีชีวิตตามธรรมชาติของนกและลักษณะของนก คิดว่าควรมีกิจกรรมนี้อีก เพราะจะได้สืบสานการดูนกและไปสอนต่อให้รุ่นต่อๆ ไป โดยให้ผู้เข้าแข่งขันจากรุ่นที่ 1 ไปสอนรุ่นต่อไปครับ " นายสถาพร ควรคิด น้องฮ๊อต สังกัดสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดพะเยา อำเภอเมืองพะเยา

     " คาดหวังว่ากิจกรรมนี้จะสามารถทำให้มีความสุข ได้พักผ่อนในช่วงวันหยุด การแข่งขันในสนามแรกตื่นเต้นมาก เพราะไม่เคยแข่งขันดูนกมาก่อน สนามที่ 2 ก็เริ่มคุ้นชินมากขึ้น และสนามที่ 3 รู้สึกว่ามันง่ายขึ้นกว่าเดิมมากๆ นอกจากนี้ยังได้ความรู้ต่างๆ ธรรมชาติของนก การอนุรักษ์สัตว์ป่าและป่าไม้ด้วยค่ะ " เด็กหญิงพรหมธิดา สุขเกษม สังกัดโรงเรียนแม่ใจวิทยาคม อำเภอแม่ใจ

     " ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้อะไรเลย เพียงอยากเก็บสะสมผลงาน เกียรติบัตร และความสนุกเท่านั้น แต่สิ่งที่ได้กลับมาเกินความคาดหวังไว้มาก สนามที่ 1 เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองเล็งทรายเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ทำให้สังเกตนกได้ง่าย เป็นนกน้ำเยอะ และสนามที่ 3 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ เป็นพื้นที่ป่าไม้ จะยากที่สุดเพราะเป็นป่าค่อนข้างทึบแต่มีความสนุกอยู่เพราะได้เดินป่าขึ้นเขาด้วย แถมได้ทั้งความรู้และคำแนะนำจากพี่เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯด้วยครับ " นายเอกรินทร์ โคจรานนท์ สังกัดโรงเรียนแม่ใจวิทยาคม อำเภอแม่ใจ

     " คาดหวังว่าจะได้รู้จักสายพันธุ์ที่แปลกใหม่ ได้ทักษะการดูลักษณะนกพื้นฐาน เช่น หางยาว สนามแรกตื้นเต้นมาก เพราะไม่เคยได้ลองทำอะไรแบบนี้ สนามที่ 2 มีพัฒนาการมากขึ้นเพราะเคยได้ทำมาก่อนแล้ว และสนามที่ 3 ได้รู้จักอุปกรณ์มากขึ้น ไม่ตื่นเต้น ทำได้ดีมากขึ้น ได้จำนวนสายพันธุ์มากขึ้นครับ " นายกวีรพัฒน์ ขวัญตน สังกัดโรงเรียนดอกคำใต้วิทยาคม อำเภอดอกคำใต้

     " ได้ประสบการณ์ใหม่ ได้พบเจอพี่ๆ และน้องๆ ได้ฝึกการทำงานเป็นกลุ่มและมีความสามัคคีมากขึ้น และคิดว่าควรมีกิจกรรมนี้ขึ้นอีก เพราะการมาแข่งขันครั้งนี้รู้สึกประทับใจมาก ให้รุ่นๆ ต่อไป ได้เรียนรู้เรื่องความสามัคคีและได้ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ด้วยค่ะ " นางสาวกัลยรัตน์ ไชยพรหม สังกัดโรงเรียนดอกคำใต้วิทยาคม อำเภอดอกคำใต้

    ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการ
    กลุ่มที่ได้รับประโยชน์อธิบายจำนวนที่ได้ประโยชน์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
    เด็กและเยาวชนนักเรียนโรงเรียนบ้านจุน โรงเรียนพวงพะยอม โรงเรียนดอกคำใต้วิทยาคม โรงเรียนแม่ใจวิทยาคม และเยาวชนสังกัดสำนักการเรียนรู้ (อำเภอเมืองพะเยา อำเภอจุน อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่ใจ)40 คนจากผลการประเมินภาวะติดเกมส์และสุขภาพจิตหลังเข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันดูนก พบว่า จำนวนเด็กที่มีความเสี่ยงเป็นภาวะซึมเศร้าลดลง เหลือเพียง 2 คน และเด็กและเยาวชนที่เป็นผู้เข้าร่วมการแข่งขันไม่มีภาวะติดเกมส์แล้ว แสดงว่าการจัดกิจกรรมแข่งขันดูนกเมืองพะเยานี้สามารถลดความเสี่ยงจากภาวะซึมเศร้าและภาวะติดเกมส์ในเด็กได้จริง
    รูปภาพการดำเนินกิจกรรม






    อ่านต่อ
  • ความคืบหน้าโครงการ > น้องยูโร เตรียมผ่าตัดสะโพกครั้งที่ 4 หวังเดินได้

    น้องยูโรผ่าตัดสะโพกครั้งที่ 4 และอยู่ในช่วงเฝ้าดูอาการและพักฟื้น

    25 มกราคม 2024

    “ น้องยูโร ” อายุ 9 ขวบ จ.พะเยา เป็นเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าและไม่สามารถเดินทรงตัวได้ เพราะขณะเดินจะไม่สามารถลงน้ำหนักที่ขาได้และต้องใช้ไม้พยุงตลอดเวลา

    เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา แพทย์ได้นัดทำการผ่าตัดนำเหล็ก Y ที่เคยดามเท้า 2 ข้าง ที่ใส่ไว้จากการผ่าตัดในครั้งที่ 3 ออก เพื่อให้น้องทรงตัวได้ดีมากยิ่งขึ้น ขณะนี้น้องยูโรยังอยู่ในช่วงเฝ้าดูอาการและนอนพักฟื้น หลังจากผ่าตัดครั้งที่ 4 นี้ น้องยูโรได้รับกำลังใจที่ดีจากคนในครอบครัว อาการโดยรวมยังไม่มีอาการแทรกซ้อนและสามารถรับประทานอาหารได้เป็นปกติ

    ความประทับใจของผู้ที่ได้รับประโยชน์ 

    “ ผมดีใจมากครับที่ได้รับการดูแลจากโครงการกองบุญกู้วิกฤตของมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.ฯ ผมก็ดีใจมากครับที่ผมได้มีโอกาสรักษาและได้รับการผ่าตัดครับ ผมจะสู้และรักษาตัวให้แข็งแรง แม้ว่าผมจะเดินได้ไม่ถนัดเหมือนเพื่อน ขอบคุณทุกท่านที่เมตตาผมกับครอบครัวที่ช่วยให้ผมได้รับการรักษาโรคนี้อย่างต่อเนื่องครับ ” น้องยูโร กล่าวขอบคุณสั้น ๆ พร้อมรอยยิ้มแห่งความหวัง

    ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการ 
    กลุ่มที่ได้รับประโยชน์อธิบายจำนวนที่ได้ประโยชน์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
    อื่น ๆครอบครัวน้องยูโร1 ครอบครัวหลังจากการผ่าตัดครั้งที่ 4 น้องมีกำลังใจดี กำลังรักษาตัวและจะเข้าสู่ขั้นตอนการทำกายภาพบำบัดต่อไป
    รูปภาพการดำเนินกิจกรรม

     ภาพ : น้องยูโรและครอบครัว

    อ่านต่อ
  • ความคืบหน้าโครงการ > ส่งนิตยสารหมอชาวบ้านให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล

    ส่งมอบนิตยสารหมอชาวบ้านแก่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จำนวน 15 แห่ง

    25 มกราคม 2024

    ส่งมอบนิตยสารหมอชาวบ้านให้แก่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) จำนวน 15 แห่ง ให้แก่

    1. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเหล่าแดง 
    2. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านกลาง
    3. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบึงสนั่น
    4. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลคำรุ่งเรือง
    5. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเสนา
    6. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเขาแก้วศรีสมบูรณ์
    7. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านป่าผึ้ง
    8. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเหมืองแร่
    9. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลวัดตะกู
    10. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท่าทอง
    11. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางสะแก
    12. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนิคมสร้างตนเอง
    13. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในเตา
    14. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลลุโบ๊ะบายะ
    15. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านม่วง

    เจ้าหน้าที่และอสม.ของ รพ.สต.และประชาชนที่มาใช้บริการและอสม.ไปเยี่ยมประชาชนในขอบเขตของ รพ.สต. ทั้ง 15 แห่งประชาชนมีความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพบื้องต้นก่อนพบแพทย์เพิ่มขึ้นตามจำนวนที่มีผู้บริจาคผ่านโครงการเทใจ และมีประชาชนที่ยังขาดความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพเนื่องจากขาดทุนทรัพย์ ในการจัดส่งนิตยสารหมอชาวบ้านไปยัง รพ.สต.อีกมาก

    ความประทับใจของผู้ที่ได้รับประโยชน์ 

    " ได้ความรู้ใหม่ที่ใช้ในการแนะนำผู้มารับบริการ " คุณอัศวิน รพ.สต.เขาแก้วศรีสมบูรณ์ จังหวัดสุโขทัย

    " นำความรู้ที่ได้ปรับใช้งานสุขศึกษา " คุณสงคราม รพ.สต.บ้านกลาง จังหวัดสกลนคร

    " นำไปใช้โดยการฝึกปฏิบัติ ตามความรู้ที่ได้ " คุณรัตน์ รพ.สต.เหล่าแดง จังหวัดอุบลราชธานี

    ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการ
    กลุ่มที่ได้รับประโยชน์อธิบายจำนวนที่ได้ประโยชน์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
    โรงพยาบาลโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในประเทศไทย15 แห่งรพสต.มีนิตยสารไว้บริการประชาชน และผู้ป่วยที่มาใช้บริการให้ได้รับความรู้ใหม่ๆ
    รูปภาพการดำเนินโครงการ




    อ่านต่อ
  • ความคืบหน้าโครงการ > ถุงมือสานฝันปันสุขเพื่อเด็กพิการทางสมอง Happy CP Gloves

    มอบถุงมือแก่น้องๆ ผู้พิการทางสมอง จำนวน 2,000 คน

    24 มกราคม 2024

    โครงการนี้เริ่มต้นขึ้นในปี 2560 โดยทีมผู้ประดิษฐ์ได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาและรับฟังปัญหาจากเด็กพิการทางสมองและครอบครัวของพวกเขา ที่สมาคมศูนย์การเรียนรู้คนพิการบ้านแม่นก และที่หอผู้ป่วยเด็ก รพ.จุฬาลงกรณ์ จากข้อมูลที่ได้ ทีมได้ออกแบบและทดสอบต้นแบบถุงมือสำหรับเด็กพิการ ซึ่งผ่านการปรับปรุงหลายครั้งจนได้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้จริง

    ในช่วงปี 2562-2565 ทีมได้ติดต่อศูนย์เด็กพิการต่างๆ เพื่อประมาณจำนวนถุงมือที่จะผลิต และได้ติดต่อโรงงานผู้ผลิต เพื่อตกลงเรื่องสเปคและราคาและความเป็นไปได้ในการผลิตเพื่อนำไปใช้งานได้ในวงกว้าง

    ในปี 2566 ทีมได้เริ่มต้นการประชาสัมพันธ์โครงการเพื่อรวบรวมเงินบริจาค โดยเปิดรับบริจาคผ่านเว็บไซต์เทใจดอทคอม และได้ติดต่อบริษัทองค์กรต่างๆ ที่สนใจเป็นสปอนเซอร์ หลังจากระดมทุนได้ตามเป้าหมาย ทีมจึงได้ผลิตถุงมือตามจำนวนเป้าหมาย 2,000 ชิ้น ซึ่งผลิตเสร็จสิ้นในเดือนสิงหาคม 2566 จากนั้นทางทีมได้ทำการกระจายผลิตภัณฑ์ให้ถึงมือเด็กที่ต้องการจริงๆ โดยติดต่อไปหลายองค์กรที่ดูแลเด็กพิการทางสมองทั่วประเทศ ทั้งทางการติดต่อโดยตรงและผ่านกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยยึดหลักว่าต้องมีการแสดงความต้องการก่อนที่เราจะส่งไปให้ โดยมีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำวิธีใช้

    จนถึงสิ้นปี 2566 มีถุงมือที่ถูกกระจายแก่ครอบครัวและหน่วยงานดูแลเด็กพิการทางสมองผ่านทางกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ, สมาคมศูนย์การเรียนรู้คนพิการบ้านแม่นก, สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ เชียงใหม่, บ้านนนทภูมิ, บ้านราชาวดีชาย, บ้านราชาวดีหญิง, คลีนิค รพ.จุฬาลงกรณ์, โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ และมูลนิธิดุลภาทร ผู้ได้รับประโยชน์หลักคือเด็กพิการที่ได้ใช้ถุงมือเหล่านี้ ซึ่งส่งผลดีต่อชีวิตและการเรียนรู้ของพวกเขา

    ความประทับใจของผู้ที่ได้รับประโยชน์

    " น้องรดาเป็นเด็กผู้หญิง อายุ 9 ขวบค่ะ น้องสมองพิการตั้งแต่กำเนิดค่ะ มีเรื่องของพัฒนาการช้า เป็นโรคลมชักเบาจืด และกรดไหลย้อน ให้อาหารทางหน้าท้องค่ะ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ มีอาการเกร็งเยอะมาก กัดมือตัวเอง ถุงมือที่ส่งมอบให้น้องๆ พิการได้ใส่เพื่อช่วยลดอาการเกร็ง ช่วยแม่ๆ อย่างพวกเราได้มากๆ เลยค่ะ บางทีอุปกรณ์ช่วยเหล่านี้เราต้องการมาก แต่ไม่มีใครมองเห็นหรือรู้ว่าคนที่มีลูกพิการแบบเราต้องการอะไร คุณแม่ต้องขอบพระคุณทุกๆ ฝ่าย ทุกๆ ท่านมากๆ เลยค่ะ ที่ทำให้แม่ๆ อย่างเรามีรอยยิ้ม และทำให้เรารู้ว่าพวกเรายังมีคนที่มองเห็นถึงความต้องการของลูกๆ ที่พิการของเราอยู่ และสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากกว่าสิ่งของที่พวกเราได้รับ ก็คือ หัวใจที่ยิ่งใหญ่ของการเป็นผู้ให้ และความรักที่ส่งผ่านอุปกรณ์ที่ช่วยให้ เด็กๆ พิการได้มีรอยยิ้มทุกครั้งเมื่อเห็นตุ๊กตาที่มือของตัวเอง เขาสามารถพูดคุยเล่นกับมือตัวเองในภาษาของเขาเองอย่างมีความสุขในทุกครั้งที่ได้ใส่ เราเป็นผู้รับเห็นลูกมีความสุข ก็ต้องบอกว่าขอบคุณที่สุดจากหัวใจของแม่เลยค่ะ ขอบคุณที่ยังมีคนอีกกลุ่มมองเห็นความต้องการของพวกเรา ขอบพระคุณจริงๆ ค่ะ " คุณแม่น้องรดา

    " ขอบคุณเด็กๆ ที่ทำอุปกรณ์ดีๆ มาให้น้องในครั้งนี้ด้วยค่ะ น้องชุนเทียนสนุกสนานเพลินกับของเล่นที่ติดมากับอุปกรณ์ค่ะ " คุณแม่น้องชุนเทียน

    วิดีโอความประทับใจของยายแก้วและน้องเน็ต

     

    ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการ 
    กลุ่มที่ได้รับประโยชน์อธิบายจำนวนที่ได้ประโยชน์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
    ผู้พิการและผู้ป่วยครอบครัวและหน่วยงานดูแลเด็กพิการทางสมองผ่านทางกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ, สมาคมศูนย์การเรียนรู้คนพิการบ้านแม่นก, สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ เชียงใหม่, บ้านนนทภูมิ, บ้านราชาวดีชาย, บ้านราชาวดีหญิง, คลีนิค รพ.จุฬาลงกรณ์, โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ และมูลนิธิดุลภาทร2,000 คนถุงมือสามารถป้องกันและบรรเทาอาการบาดเจ็บจากการเกร็งของกล้ามเนื้อได้ ลดปัญหากระดูกหักข้อมือและนิ้วคดงอ อีกทั้งยังเป็น ‘ของเล่น’ สร้างความสุขพร้อมกับส่งเสริมพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กพิการทางสมองในด้านต่างๆ เช่น ด้านอารมณ์ สังคมและสติปัญญา
    รูปภาพการดำเนินกิจกรรม







    อ่านต่อ
  • ความคืบหน้าโครงการ > ซ่อมแซมสุขาโรงเรียนบ้านแม่สะงา จ.แม่ฮ่องสอน

    ซ่อมแซมสุขาโรงเรียนบ้านแม่สะงา จังหวัดแม่ฮ่องสอน

    24 มกราคม 2024

    การซ่อมแซมสุขาโรงเรียนบ้านแม่สะงา จังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวน 5 ห้อง สำหรับเด็ก 32 คน ผู้บริหารและครู รวม 8 คน

    ปัญหาขาดแคลนในเรื่องสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ระบบน้ำดื่มสะอาด ห้องสุขาที่ชำรุด ระบบไฟฟ้าทั่วอาคารชำรุดเกรงเกิดอัคคีภัย ฯลฯ แต่ปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขเป็นอันดับแรกๆ คือ การซ่อมแซมห้องสุขาที่มีอายุการใช้งานมายาวนาน ผ่านการซ่อมแซมเป็นจุดๆ บ้างก็ผุพังตามกาลเวลา ทำให้นักเรียน ครู บุคลากร หรือผู้ปกครองที่ได้ใช้งานไม่มีความสุข จึงได้มีการร่วมมือกันศึกษาแนวทางในการระดมทรัพยากรเพื่อซ่อมแซมสุขา

    ซึ่งได้มารู้จักกับเว็ปไซต์เทใจดอทคอม และได้ทำการระดมทุนโครงการซ่อมแซมสุขาโรงเรียนบ้านแม่สะงา จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นมา และได้เริ่มทำการหาผู้รับจ้าง และเข้าซ่อมแซมในวันอาทิตย์ ที่ 14 มกราคม 2567 สิ้นสุดการซ่อมแซมและส่งมอบในวันศุกร์ ที่ 19 มกราคม 2567

    ความประทับใจของผู้ที่ได้รับประโยชน์

     “ สวัสดีครับผมชื่อเด็กชายวิทยา - เป็นตัวแทนนักเรียนของโรงเรียนบ้านแม่สง่า ขอขอบคุณเทใจดอทคอมที่ได้ปรับปรุงซ่อมแซมห้องน้ำที่เก่าและทรุดโทรม ปรับปรุงห้องสุขาเก่าๆ หลังคาทรุดโทรม และตอนนี้เทใจดอทคอมได้ปรับปรุงซ่อมแซมห้องน้ำ ให้เป็นอันใหม่มีอ่างล้างมือที่ปัสสาวะเพียงพอครับ ขอบคุณครับ ” เด็กชายวิทยา นักเรียนชั้น ป.4 โรงเรียนบ้านแม่สะงา

     “ สวัสดีค่ะหนูชื่อเด็กหญิงกมลพร ภิวัฒน์สกุล ขอขอบคุณเทใจดอทคอมที่ได้ปรับปรุงซ่อมแซมห้องน้ำของเราจากเดิมห้องน้ำของเราเก่าและชำรุด มีประตูไม้ที่ไม่สามารถล็อคได้ และมีหลังคาที่ชำรุดแต่ตอนนี้ห้องน้ำของเราได้มีความสวยงามสะอาดน่าใช้งานมีสีสันที่สวยงามขอบคุณค่ะ ” เด็กหญิงกมลพร ภิวัฒน์สกุล นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนบ้านแม่สะงา

     “ สวัสดีค่ะดิฉันนางสาวศิริภาคย์ ยอดทอง เป็นตัวแทนของคณะครูโรงเรียนบ้านแม่สงา ขอขอบคุณเทใจดอทคอมที่ได้ปรับปรุงซ่อมแซมห้องน้ำให้กับโรงเรียนบ้านแม่สะงา ซึ่งจากเดิมห้องน้ำของเรามีสภาพทรุดโทรมและเก่า ตั้งแต่หลังคา ประตู แล้วก็บริเวณรอบๆ โดยมีความเปลี่ยนแปลงของห้องน้ำคุณครูก็คือสภาพเมื่อก่อนยังไม่ได้ปูพื้น แล้วก็สีสันห้องน้ำยังไม่ดูสะอาดตานะคะแต่ตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงก็คือได้ปูพื้นแล้วก็ทาสีใหม่นะคะทำให้ห้องน้ำน่าใช้และดูสะอาดตาถูกสุขลักษณะอนามัยของโรงเรียน ซึ่งการปรับปรุงเพิ่มเติมครั้งนี้ ทำให้ตรงกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการเรียนดีมีความสุขทำให้คุณครูและนักเรียนทุกคนมีห้องน้ำที่สะอาดสวยงามและน่าใช้ ทำให้ทุกคนมีความสุขในการใช้ห้องน้ำในครั้งนี้ค่ะ ขอบคุณค่ะ ”  นางสาวศิริภาคย์ ยอดทอง ครู โรงเรียนบ้านแม่สะงา

    วิดีโอความประทับใจของผู้ที่ได้รับประโยชน์

    ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการ
    กลุ่มที่ได้รับประโยชน์อธิบาย จำนวนที่ได้ประโยชน์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
    เด็กและเยาวชนเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา โรงเรียนบ้านแม่สะงา จ.แม่ฮ่องสอน32 คนเด็กนักเรียนมีห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะและปลอดภัยต่อการใช้งาน
    คุณครูผู้บริหาร ครู และบุคลากร  โรงเรียนบ้านแม่สะงา จ.แม่ฮ่องสอน8 คนคุณครูได้ใช้ห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะและปลอดภัย
    โรงเรียนโรงเรียนบ้านแม่สะงา จ.แม่ฮ่องสอน1 โรงเรียนโรงเรียนมีห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะและปลอดภัยต่อการใช้งาน
    รูปภาพการดำเนินกิจกรรม





    อ่านต่อ